ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) ระบุว่า ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา การเสียชีวิตโดยมากไม่ได้เกิดขึ้นบนถนนทางหลวง ทางด่วนหรือทางหลวงชนบท หากแต่เกิดบนถนนในเขตชุมชน จากการเดินทางใกล้ ๆ ในถนนสายสั้น ๆ ซึ่งหลายคนมักมองข้ามและคิดว่าใกล้แค่นี้ ไม่เป็นไร

เหตุนี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การจัดการความปลอดภัยทางถนนของชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน" นำชุดความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนมาถ่ายทอดให้กับผู้นำชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้ในการจัดการความปลอดภัยทางถนนในชุมชนของตนเอง

รศ.ดร.วิชุดา เสถียรนาม คณะวิศว กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ให้ความรู้ก่อนเข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการว่า มีผลสำรวจจากงานวิจัย AUSTROADS 2002 ของประเทศออสเตรเลีย สรุป 3 ปัจจัยขับเคลื่อนอุบัติเหตุ ได้แก่ 1. คน  2. ถนนและสิ่งแวดล้อม และ 3. รถ ตามลำดับ  ซึ่งหากมองภาพรวมแล้วสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขก็คือ "คน" โดยทั่วไปจะใช้วิธีการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยทางถนน นำไปสู่การเลิกนิสัยประมาทหรือขับรถเร็ว ไปจนถึงการออกกฎหมายบังคับใช้แต่ทว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า กฎหมายนั้นมีความเข้มแข็งมากพอที่จะไม่ทำให้คนไม่ฝ่าฝืนข้อบังคับต่าง ๆ ได้ ซึ่งค่อนข้างใช้ไม่ได้ผลในบ้านเรา แต่ปัจจัยที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้เลยและเห็นผล คือ "ถนนและสิ่งแวดล้อม" หรือ "จุดเสี่ยง"

เมื่อทราบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุแล้ว จึงชวนผู้ร่วมอบรมฯ เข้าสู่ขั้นตอน "การจัดการจุดเสี่ยง" ซึ่งประกอบด้วย 1.ค้นหา 2.วิเคราะห์ 3.ปรับปรุง และ 4.ประเมินผล ติดตามผล และเฝ้าระวัง โดยมุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนไปพร้อม ๆ กัน

รศ.ดร.วิชุดา อธิบายเสริมว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ให้ตรงจุดและตอบโจทย์มากที่สุด ต้องอาศัยการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำให้เกิดการตระหนักและยอมรับปัญหาเพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน โดยทำปัญหาให้เห็นชัดและกำจัดปัญหานั้น  ซึ่งมีทางเลือกในการจัดการอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับจุดเสี่ยงของแต่ละชุมชน เช่น ทางเลือกในการจัดการปัญหาการใช้ความเร็วในชุมชน ทางเลือกในการจัดการจุดเสี่ยงทางข้ามในชุมชน ทางเลือกในการจัดการจุดเสี่ยงหน้าตลาดและหน้าโรงเรียน เป็นต้น

ด้าน นพ.ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) อธิบายถึงทางเลือกในการจัดการปัญหาการใช้ความเร็วในชุมชนว่า ปัญหาการใช้ความเร็วบนถนนสายรองที่ตัดผ่านเขตชุมชนเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงเทียบเท่ากับถนนสายหลักหรือถนนทางหลวง ซึ่งโอกาสของการสูญเสียจะเพิ่มขึ้นตามอัตราความเร็วในขณะขับรถ โดยที่อัตราความเร็วเท่ากับ 30-40 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 50 และที่อัตราความเร็วมากกว่า 50 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 85 ในขณะที่อัตราความเร็วขณะขับรถในเขตชุมชน กฎหมายกำหนดไว้ที่ 80 กม./ชม. สะท้อนให้เห็นว่ามีความเสี่ยงสูงมากแค่ไหน

"สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้นอกจากการส่งเสริมในเชิงความรู้เรื่องการจัดการความปลอดภัยทางถนนด้วยตนเองแล้ว "ทัศนคติ" ความเชื่อเดิมที่ว่าถนนที่มีความกว้างคือถนนที่มีความเจริญ ควรปรับความคิดใหม่โดยยึดความปลอดภัยเป็นตัวตั้ง สร้างฐานความคิดเรื่องความปลอดภัยที่ถูกต้องและไม่ตามกระแสนิยม อีกความเชื่อหนึ่งคือ "ขับเร็วถึงเร็ว" เนื่องจากมีข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างของเวลาในการเดินทางของรถที่แล่นในอัตราความเร็ว 120 กม./ชม. จะถึงเร็วกว่ารถที่แล่นด้วยอัตราความเร็ว 90 กม./ชม. ในระยะทาง 30 กม. เพียง 5 นาทีเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่ควรทำเวลาบนท้องถนน แต่หากอยากถึงเร็วก็เพียงแค่ออกก่อนเวลาเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของทุกคน" ผู้จัดการ ศวปถ. ทิ้งท้าย

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง