ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข ประธานวอร์รูมน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ศูนย์อนามัยที่ 2 จ.สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 5 จ.นครราชสีมา กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ น้ำท่วมและน้ำลดแล้ว เฝ้าระวังโรคจาก น้ำท่วม รวมทั้งฟื้นฟูสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม น้ำและอาหารให้มีความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน โดยเชื้อแบคทีเรียที่เน้นหนักคือโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์โดยไม่ก่อให้เกิดโรค ใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ถึง ความสกปรกที่ปนเปื้อนมาจากสิ่งขับถ่ายของมนุษย์และสัตว์ หากพบแบคทีเรียกลุ่มนี้ ในแหล่งน้ำมากๆ แสดงว่าแหล่งน้ำนั้นมีโอกาสจะมีเชื้อโรคบางชนิดแพร่กระจายปะปนอยู่ในแหล่งน้ำได้ เช่น บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ เป็นต้น

จากการเฝ้าระวังคุณภาพความปลอดภัยน้ำและอาหารในพื้นที่น้ำท่วม 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 โดยสุ่มตรวจอาหารและน้ำดื่มที่จุดช่วยเหลือ จุดพักพิง และจุดบริการอาหารผู้ประสบภัย ผลการตรวจอาหารปรุงเสร็จพร้อมบริโภคจำนวน 22 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวผัดกุนเชียง ผัดวุ้นเส้น ผัดกะเพราหมู คะน้าหมูกรอบ แกงจืด พบปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37 และตรวจน้ำบริโภคทั้งหมด 31 ตัวอย่าง 7 ชนิด ได้แก่ น้ำดื่มบรรจุขวด 12 ตัวอย่าง น้ำบรรจุในถังน้ำขนาด 20 ลิตร 1 ตัวอย่าง น้ำผ่านเครื่องกรอง 1 ตัวอย่าง น้ำบรรจุในถังแกลลอนขนาด 5 ลิตร จำนวน 1 ตัวอย่าง น้ำฝน 14 ตัวอย่าง น้ำบาดาล 1 ตัวอย่าง และน้ำบรรจุเสร็จในแก้วพลาสติก 1 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียจำนวน 13 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 42 โดยน้ำที่ตรวจพบ โคลิฟอร์มแบคทีเรียมากที่สุดคือ น้ำฝนพบ 9 ใน 12 ตัวอย่าง ส่วนน้ำดื่มบรรจุขวดส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ คำแนะนำแก่ผู้ประกอบอาหารในจุดพักพิง เรื่องความสะอาดในการประกอบอาหาร เลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่สด ใหม่ ชนิดอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย ไม่ยุ่งยากในการบรรจุ เพื่อลำเลียงส่งให้ผู้ประสบภัย รับประทานได้ภายใน 4 ชั่วโมง ส่วนน้ำดื่ม ขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน จาก อย. และขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกจังหวัดตรวจค่าคลอรีนตกค้างในน้ำ ประปาในพื้นที่น้ำท่วมทุกประเภท ให้อยู่ในระดับ 0.5 พี.พี.เอ็ม. ซึ่งจะปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556