ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ ทูเดย์ - การประเมินเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและมีประโยชน์อย่างมากแก่การทำงานทุกอย่าง แต่คนโดยมากก็มักไม่ชอบการประเมิน โดยเฉพาะการเป็นผู้ถูกประเมิน

เมื่อแพทยสภาอายุครบ25 ปี ในปี 2536 มีการประเมินเพื่อทบทวนอดีตและกำหนดทิศทางอนาคต ได้เชิญอาจารย์แพทย์ที่เป็นที่เคารพนับถือมาทำการประเมิน คือ ศ.นพ.วิทูร โอสถานนท์ในการสรุปผลการประเมินท่านได้กล่าววาทะที่กินใจประโยคหนึ่ง ว่า "การวางแผน เป็นการฝันหวาน การดำเนินการตามแผน เป็นความเหนื่อยยาก แต่การประเมินผล เป็นการทรมาน"

เป็น "การทรมาน" ทั้งฝ่ายผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน แต่ทั้งบุคคลและองค์กรที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าล้วนต้องมีการประเมิน ในพระพุทธศาสนา ท่านให้ทำทั้งการ "ประเมินตนเอง" ตามหลัก "โยนิโสมนสิการ" และ "การรับฟังการประเมินโดยผู้อื่น"ตามหลัก "ปรโตโฆสะ" หรือการฟังเสียงจากกัลยาณมิตรรอบข้าง

ที่สำคัญการประเมินนั้นต้องไม่ทำเฉพาะการประเมินผลเท่านั้น ต้องทำการประเมินก่อนดำเนินการด้วย สำหรับเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและราคาแพง ควรมีการประเมินก่อนนำมาใช้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ และคุ้มค่าหรือไม่ซึ่งหากมีการประเมินโดยผู้ประเมินและวิธีการประเมินที่ถูกต้อง ก็จะไม่เกิดกรณีอย่างเครื่องตรวจอาวุธจีที 200 อันอื้อฉาว หรือกรณีเรือเหาะที่เป็นหนามตำใจคนไทยทั่วประเทศ

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ถือว่าเป็น "เจ้าแห่งเทคโนโลยี" มานาน โดยสหรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ดังปรากฏการกำหนดหลักการและแนวทางส่งเสริมเทคโนโลยีไว้ในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นตั้งแต่แรกเมื่อพ.ศ. 2330 ในหมวด 1 มาตรา 8 (8) เชื่อว่าที่มีการกำหนดเช่นนั้นเพราะในคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญราว 50 คน ที่เมืองฟิลาเดลเฟียมีวีรบุรุษนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญอยู่ด้วยคือ เบนจามิน แฟรงคลิน ซึ่งขณะนี้เป็นผู้ที่อาวุโสสูงสุดในคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ อายุถึง 71 ปี

สหรัฐอเมริกาสมัยนั้นยังล้าหลังกว่ายุโรปมากทั่วทั้งประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาลขณะนั้น เพิ่งมีสะพานข้ามแม่น้ำสายใหญ่เพียงสะพานเดียว ตัวแทนที่เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญจากบางรัฐมาไม่ทันการประชุมช่วงแรกหลายวัน เพราะถนนหนทางทุรกันดารมาก การ "บุกเบิกพัฒนา" ประเทศมุ่งตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำที่ดินมาทำการเกษตรผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่จำนวนมากมีตอไม้เต็มไปหมด แต่สหรัฐกลายมาเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน มิใช่เพียงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจังเท่านั้น

แต่ยังมีการเลือกเทคโนโลยีมาใช้ในราชการอย่างเป็นระบบ โดยมีสำนักงานประเมินเทคโนโลยีอยู่ในสังกัดรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีข้อมูลในการตัดสินใจใช้งบประมาณของประเทศโดย "อิงหลักฐาน" ไม่ตัดสินโดยอำเภอใจหรือโดย"มั้งศาสตร์" หรือโดยการอ้าง "ผู้เชี่ยวชาญ" ซึ่งบ่อยครั้งก็มิใช่ผู้เชี่ยวชาญจริง ทั้งนี้ตามหลักของ"การแพทย์อิงหลักฐาน ถือความเห็นผู้เชี่ยวชาญเป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ"ต่ำสุด"

เทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกล่าวกันว่าความรู้ใหม่ๆทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกๆ 5 ปีครึ่งจึงเป็นการยากอย่างยิ่ง หรือเป็นไปไม่ได้สำหรับปัจเจกบุคคลที่จะ "รู้เท่าทัน" เทคโนโลยีอย่างแท้จริงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ระบบ" การประเมินเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้เพื่อช่วยให้ทั้งผู้กำหนดนโยบายของประเทศ รวมทั้งปัจเจกบุคคลแต่ละคนสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสมว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาใช้ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงและคุ้มค่าอย่างแท้จริง

หน่วยงานที่ควรทำหน้าที่ดังกล่าวคือกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกรมที่เป็นกรมวิชาการ เช่น กรมการแพทย์ แต่ก็ไม่เคยมีการพัฒนางานด้านนี้อย่างเป็นระบบเลย ทำให้เกิดกรณีการนำเทคโนโลยีราคาแพงเข้ามาใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น สมัยหนึ่งพบว่ามีการนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงพยาบาลต่างๆในย่านใจกลางกรุงเทพฯ จนเรามีเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวในย่านนั้นมากกว่าในกรุงลอนดอนเสียอีกและเมื่อมีโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่างบประมาณราว 8.6 หมื่นล้านบาท มีแผนการนำเทคโนโลยีราคาแพงเข้ามาใช้อย่างไม่เหมาะสมจำนวนมาก

น่ายินดีที่ทีมงานของสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศให้ความสำคัญของเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องโดยทำมานานก่อนตั้งสำนักงานและทำอย่างจริงจัง มีการพัฒนาเครื่องมือ วิธีการ และที่สำคัญคือ การสร้างคนและทีมงานอย่างเป็นระบบ และโชคดีของประเทศไทยที่มีบุคคลอย่าง นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ศิษย์เอกของ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่มี "ฉันทะ"และธรรมะข้ออื่นๆในหลักอิทธิบาทสี่ คือ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ครบถ้วน ได้ทำงานนี้อย่างจริงจังจนเกิดเป็น "โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ" หรือ "ไฮแทป" เป็นอีกองค์กรหนึ่งใน "ตระกูล ส." ตั้งแต่ พ.ศ. 2550

เพียง 6 ปี นับตั้งแต่ก่อนตั้งองค์กรนี้ก็สามารถพัฒนาและสร้างผลงานทางวิชาการมากมาย นอกจากมีผลงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมาตรฐานทั้งในประเทศและสากลแล้วยังสามารถนำเสนอผลงานทั้งต่อผู้กำหนดนโยบายและต่อสาธารณะ จนมีการนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายที่มีผลต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศหลายเรื่องเช่น การศึกษาต้นทุน ผลกระทบทางสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยพบว่าประเทศไทยสูญเสียงบประมาณถึงปีละ 1.5 แสนล้านบาท จากปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการรณรงค์เรื่องแอลกอฮอล์ในประเทศไทย การพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายสำหรับการป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูก พบว่าการตรวจคัดกรองโรคนี้คุ้มค่ากว่าการฉีดวัคซีนเอชพีวี ทำให้เกิดการขยายระบบบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นมาก โดยที่บริษัทวัคซีนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทแม่มาตรวจสอบรายงานของไฮแทปและเมื่อพบว่าถูกต้องก็ตัดสินใจลดราคาวัคซีนให้ประเทศไทยก่อนประเทศอื่นๆและที่ผ่านมาไฮแทปได้สนับสนุนข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติในการคัดเลือกและต่อรองราคายาจนทำให้ประเทศสามารถประหยัดงบประมาณไปได้มากกว่าปีละกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งทำให้คนไทยที่มีปัญหาจอประสาทตาเสื่อมสามารถเข้าถึงยาราคาถูกกว่า 40-50 เท่า เมื่อเทียบกับยาที่ใช้ในหลายประเทศ จนในที่สุดองค์การอนามัยโลกเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จึงประกาศให้ยาที่ไทยใช้บรรจุในบัญชียาองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

น่าชื่นชมและน่าสนใจว่าไฮแทปสร้างคนและสร้างงานจนประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์