ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - ซอยศูนย์วิจัย * แพทย์ไทยชวนผู้สูงอายุฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพิ่ม เหตุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดติดเชื้อง่าย แถมโรคแทรกซ้อนหนัก โดยเฉพาะปอดอักเสบ สาเหตุเสียชีวิตในคนแก่ 80% เผยต่างประเทศทดลองเพิ่มปริมาณวัคซีนสำหรับคนแก่แล้ว หวังเพิ่มภูมิคุ้มกัน หลังพบปริมาณเดิมกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่มาก

พญ.พัณณิดา วัฒนพนม ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของคนเราจะเสื่อมถอยลงไปตามอายุที่มากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว เป็นฤดูการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ หากเป็นในกลุ่มผู้สูงอายุแล้วมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ อาทิ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในลำไส้ ที่สำคัญคือเกิดภาวะปอดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุถึง 60% ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ม.ค.-27 ต.ค.2556 มีจำนวน 37,129 ราย

พญ.พัณณิดากล่าวว่า เราสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยการรับวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งขณะนื้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัด 3 สายพันธุ์ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงประมาณ 3.5 ล้านโดส แต่ไม่แน่ใจว่าครอบคลุมผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากกว่าจำนวนวัคซีนที่มีอยู่มากแค่ไหน ดังนั้นจึงอยากกระตุ้นเตือนให้ผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยปัจจุบันนอกจากจะมีวัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อแล้ว ยังมีการพัฒนาวัคซีนชนิดเข็มเล็กฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านโรคเลือด อาทิ ผู้ที่มีเกร็ดเลือดต่ำ ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น

พญ.พัณณิดากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น ขณะนี้ในต่างประเทศกำลังมีการทดลองเพิ่มปริมาณวัคซีนที่ฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุขึ้นอีก 4 เท่า ซึ่งจากที่ได้มีการทดลองฉีดไปแล้วนั้น พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างจากการฉีดในปริมาณเท่าเดิม คือมีอาการบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อยร่างกาย และมีไข้บ้างไม่ถึง 1% ดังนั้นแนวโน้มในอนาคตน่าจะมีการเพิ่มปริมาณวัคซีนที่ฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุก็ได้ ทั้งนี้ คาดว่าประมาณปีหน้าน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556