ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ปัญหาเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะจากการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” ที่ไม่เหมาะสม แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อสร้างความตระหนักและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนว่านับวันปัญหาเชื้อดื้อยานี้จะยิ่งมีความรุนแรง ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย ทำให้หายจากอาการป่วยช้า ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น ทั้งยังพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถรักษาอาการป่วยได้จากภาวะดื้อยาที่เกิดขึ้นนี้
สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้แต่เฉพาะประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหานี้ แต่พบว่าทั่วโลกต่างกำลังประสบวิกฤต

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี 

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ายาปฏิชีวนะถูกค้นพบโดย เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Sir Alexander Fleming) นักชีววิทยาและนักเภสัชวิทยาชาวสก็อตแลนด์ ช่วยคนจำนวนมากรอดตายจากภาวะติดเชื้อแต่ขณะที่อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง กลับพบว่าภาวะการดื้อยาของเชื้อกลับเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ทำให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตัวเดิมไม่ได้ผล ต้องเพิ่มปริมาณยาหรือปรับเปลี่ยนยาที่มีฤทธิ์รุนแรงขึ้นแทน นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อดื้อยายังได้เข้าไปทำปฏิกิริยากับพันธุกรรม มีผลกับจุรินทรีย์ที่ดีในร่างกาย ส่งผลการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้แต่ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ได้เคยเตือนไว้ในช่วงการค้นพบและเชื่อว่าจะเป็นปัญหาในอนาคต

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยานี้มีหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากผู้ป่วยและแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา การควบคุมภายในโรงพยาบาล การเข้าถึงยาได้ง่ายเกินไป สามารถซื้อได้ในร้านขายยา หรือแม้แต่ร้านชำทั่วไป เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม การกินยาไม่ครบขนาด และการใช้ยาที่มีฤทธิ์รุนแรงเกินไป

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมปัญหาการดื้อยา จึงต้องอาศัยร่วมมือจากทุกคนเพื่อดำเนิน 3 มาตรการ ได้แก่ "ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะใช้กรณีจำเป็น” เท่านั้น ไม่พร่ำเพรื่อจนก่อให้เกิดการดื้อยา อย่างเช่น การป่วยด้วยโรคหวัด การรักษาไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเชื้อหวัดเป็นไวรัส ไม่ใช่แบคทีเรีย การกินยาปฏิชีวนะไม่มีผล แต่ต้องรักษาถูกวิธี ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาการป่วยจะค่อยทุเลาและหายได้ เช่นเดียวกับอาการป่วยจากท้องเสียเล็กน้อยที่ควรดื่มเกลือแร่ หรือมีดบาดเล็กน้อยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

"การกินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง" เรื่องนี้คนไทยมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะพฤติกรรมกินยาส่วนใหญ่จะหยุดยาภายหลังจากที่อาการดีขึ้น ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ยังอยู่ในร่างกาย เพียงแค่สงบลง เมื่อไม่ยาต่อเนื่องเพื่อฆ่าเชื้อ  เชื้อเหล่านี้จะปรับตัวให้คงทนต่อยามากขึ้น และกลายเป็นเชื้อดื้อยาในที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากพฤติกรรมลืมกินยา

"การใช้ยาอย่างสมเหตุผล" ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธ์ยาแรงเกินไปเพื่อมุ่งให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะมีชนิด และแต่ละตัวมีฤทธิ์ความแรงในการฆ่าเชื้อที่แตกต่างกัน ซึ่งหากใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงในการรักษาแรกเริ่มทันที เมื่อเกิดการดื้อยาขึ้น จะทำให้ไม่มียาขนานต่อไปเพื่อใช้ในการรักษา ดังนั้นจึงควรใช้ยาสูตรเริ่มต้นก่อน   

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลซึ่งถือเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อดื้อยา จากรายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2553 ประมวลสถานการณ์เชื้อดื้อยาและปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ จัดทำโดย กพย. พบว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดในโรงพยาบาล อย่างห้อง ICU ในหลายโรงพยาบาลี่พบเชื้อดื้อยาสูงมาก โดยเชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหา เช่น อะซินีโตแบคเตอร์ บอมมานนีไอ (Acinetobacter baumannii) ก่อให้เกิดการติดเชื้อของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระแสเลือด ปอด ทางเดินปัสสาวะ ช่องท้อง เยื่อหุ้มสมอง และแผลผ่าตัด เป็นต้น เมื่อติดเชื้อดื้อยานี้แล้วมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง 

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในเรื่องการสั่งจ่ายยาและควบคุมการติดเชื้อดื้อยา อย่างห้องไอซียูเตียงผู้ป่วยที่ต้องไม่ชิดเกินไป อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้กับผู้ป่วย นอกจากนี้โรงพยาบาลแต่ละแห่งยังต้องมีการส่งตรวจเพาะเชื้ออย่างต่อเนื่องเพื่อดูการดื้อยาและจะเข้าไปควบคุมให้ถูกจุด

“ที่ผ่านมาได้มีระบบการติดตามการเฝ้าระวังการดื้อยาในโรงพยาบาล โดยมีการติดตามเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 30-40 แห่ง จากโรงพยาบาลที่มีทั่วประเทศกว่าพันแห่ง ถือว่าเป็นตรวจที่น้อยมาก และจากการติดตามพบว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีปัญหาเชื้อดื้อยามากกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กอย่างโรงพยาบาลชุมชน ทั้งจากจำนวนการใช้ยาและผู้ป่วยที่เข้ารักษา” ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวและว่า ส่วนปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะนอกโรงพยาบาลนั้นที่สามารถหาซื้อได้ง่าย มีการเสนอว่า น่าจะมีการควบคุมการจำหน่วย โดยจำแนกยาปฏิชีวนะที่ให้มีการจ่ายเฉพาะในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม

สำหรับกลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีมูลค่าการสั่งใช้รวมสูง เป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ คาร์บาพีแนม (carbapenems), เซฟาโลสปอริน(cephalosporins), เพนนิซิลิน(penicillin) และ เอนไซม์ อินฮิบิเตอร์ (penicillins and enzyme inhibitors) เป็นต้น
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาการดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาในคนแล้ว การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ส่งผลให้การดื้อได้ ที่ขณะนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายในฟาร์มเกษตร ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ มีการผสมในอาหารสัตว์ และยังมีการรายงานในต่างประเทศพบการใช้ยาปฏิชีวนะแม้แต่ในฟาร์มเลี้ยงผึ้ง โดยในกรณีที่สัตว์ได้รับยาปฏิชีวนะที่เกินขนาดอาจก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายข้ามมาในคนเช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปได้ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ร้อยเปอร์เซ็น ยกเว้นกรณีที่มีสัตว์เจ็บป่วย แต่บ้านเรากลับมีการใช้กันมากเพื่อเน้นที่การป้องกัน

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกันมากเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยานี้ และก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554 ทางองค์การอนามัยโลก (WHO)  ได้ประกาศให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องในวันอนามัยโลก พร้อมกับประกาศคำขวัญในปีนั้นว่า “ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ป้องกันเชื้อดื้อยา เพื่อการรักษาที่ได้ผล” (Combat drug resistance - No action today, no cure tomorrow) เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้อง ซึ่งสถานการณ์การดื้อยาในประเทศไทยเองก็อยูในระดับที่น่าเป็นห่วง

ดังนั้น ในปีนี้จึงต้องมีการรณรงค์เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ทาง กพย. และเครือข่าย โดยนิสิต-นักศึกษา จะร่วมกันเดินขบวนรณรงค์ พร้อมทั้งจัดกิจกรรม นิทรรศการ ในวันที่ 23 พ.ย. นี้ ที่สยามสแควร์ เพื่อให้คนไทยตระหนักต่อปัญหาเชื้อดื้อยาที่นับวันยิ่งคุกคามมากขึ้น