ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - สารอะฟลาทอกซินเอ็ม 1  (AFM1 ) เป็นสารอนุพันธ์ของสารอะฟลาทอกซินบี 1 (AFB1) ซึ่งเป็นสารพิษที่สร้างโดยเชื้อรา หากโคนมกินอาหารที่ปนเปื้อนสาร AFB1 เข้าไป จะเกิดขบวนการเมทตาโบไลท์ทำให้สาร AFB1 เปลี่ยนแปลงเป็นสาร AFM1 ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำนมโคภายใน 12-24 ชั่วโมง   ซึ่งสารชนิดดังกล่าวถือเป็นข้อกังวลอย่างหนึ่งของสหกรณ์โคนมและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมทั่วประเทศ  ภายหลังกรมวิชาการเกษตรใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยและผลิต "ชุดตรวจสอบสารอะฟลา ทอกซินเอ็ม 1 ในน้ำนม" มากว่า 4 ปี ในที่สุดกรมวิชาการเกษตรก็ประสบความสำเร็จในการผลิตชุดตรวจสอบสารอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1ในน้ำนมแบบรวดเร็ว  ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ตรวจสอบน้ำนมดิบก่อนที่จะรับซื้อหรือนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และช่วยปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศได้

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สาร ฟฤหฏ มีความเป็นพิษเท่ากับสาร AFB1 เพราะเป็นสารก่อมะเร็ง ถึงแม้ร่างกายได้รับสารพิษเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ หลายประเทศจึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานปริมาณสาร AFM1 ที่ยอมให้มีการปนเปื้อนในน้ำนมและผลิตภัณฑ์ เช่น ออสเตรเลีย กำหนดให้มีการปนเปื้อนสารชนิดดังกล่าวได้ไม่เกิน 0.05 ppb  สหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ที่ 0.5 ppb ญี่ปุ่น กำหนดว่าในน้ำนมต้องไม่มีสาร AFM1  ส่วน กระทรวงสาธารณสุขของไทย ประกาศกำหนดปริมาณ AFM1 ในนมไม่เกิน 0.5 ppb ขณะที่มาตรฐานสากลหรือ โคเด็กซ์ (Codex) กำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.05 ppb

ทั้งนี้ เนื่องจากสาร AFM1 ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ทั้งยังปราศจากสี กลิ่น และรส ดังนั้น วิธีการตรวจวิเคราะห์ต้องมีความไวในการตรวจจับสูงมากและมีความแม่นยำด้วย ส่วนใหญ่นิยมตรวจวิเคราะห์สาร AFM1 ในน้ำนมโดยใช้วิธี  ELISA

ดังนั้น จึงนับเป็นข่าวดีที่กรมวิชาการเกษตรประสบความสำเร็จในการพัฒนา "ชุดตรวจสอบสารอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 ในน้ำนมแบบรวดเร็ว"  สำเร็จอีก 2 แบบ คือ แบบ ELISA และวิธี  Lateral Flow ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยคัดกรองน้ำนมดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปได้ ที่สำคัญยังมีต้นทุนต่ำและช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศด้วย

ชุดตรวจสอบสารอะฟลาทอกซิน M1 ในน้ำนมแบบรวดเร็วที่แบบ  ELISA สามารถอ่านผลวิเคราะห์ในเชิงปริมาณได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง สำหรับวิธี Lateral Flow สามารถอ่านผลตรวจวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพ โดยทราบผลการตรวจสาร AFM1 ในน้ำนมได้ภายในเวลา 10 นาทีเท่านั้น และอ่านผลวิเคราะห์ได้ต่ำสุด 0.25 ppb  ซึ่ง ผลการตรวจสอบสามารถเชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบสาร AFM1 ได้ทั้งในน้ำ นมดิบ นมพาสเจอไรซ์ นมยูเอชที และน้ำนมมารดา

ที่สำคัญชุดตรวจสอบสาร AFM1 ในน้ำนมแบบรวดเร็ว  สามารถใช้งานง่ายมาก เพียงหยดตัวอย่างน้ำนมลงในชุดตรวจสอบ 1-2 หยด รอผลไม่เกิน 10 นาที ถ้าเห็นเส้นสีม่วงแดงเกิดขึ้น 2 เส้นในชุดทดสอบ แสดงว่า น้ำนมนั้นไม่มีสาร AFM1 ปนเปื้อน แต่ถ้าเกิดสีเข้ม 1 เส้นที่ Control line และที่เส้น Test line ไม่มีสีหรือสีจางกว่า แสดงว่าตัวอย่างน้ำนมนั้นมีสาร AFM1 ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งชุดตรวจสอบนี้เหมาะสมสำหรับสหกรณ์โคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม สามารถนำไปใช้ตรวจประเมินคุณภาพน้ำนมดิบ เพื่อคัดกรองในการเลือกซื้อวัตถุดิบเบื้องต้นแบบรวดเร็วก่อนป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปได้

นายดำรงค์กล่าวอีกว่า ชุดตรวจสอบสาร AFM1 ในน้ำนมที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ จะช่วยประหยัดเวลาให้กับสหกรณ์โคนมหรือ ผู้ประกอบการในการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบ ทั้งยังช่วยประหยัดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก เพราะราคาถูกกว่าชุดตรวจสอบที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงกว่า 10,000 บาทต่อชุด ที่สำคัญยังช่วยปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศ "อนาคตกรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมที่จะผลิตชุดตรวจสอบสาร AFM1 จำหน่าย และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมให้มีการผลิตในเชิงพาณิชย์ หากผู้ประกอบการมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย คาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าชุดตรวจสอบสาร AFM1 จากต่างประเทศได้ สำหรับสหกรณ์โคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้ประกอบการที่สนใจทดลองใช้หรือนำไปใช้ตรวจสอบน้ำนมดิบ กรมวิชาการเกษตรยินดีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมการใช้งานให้" อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

หากสนใจ "ชุดตรวจสอบสารอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 ในน้ำนมแบบรวดเร็ว" สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-6364 ต่อ 1709 หรือ 02-579-6009.

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง