ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บ้านเมือง - พ.ญ.ฉันทนา ผดุงทศ นักวิชาการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนายสุเมธา วิเชียรเพชร กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับสารเคมีที่ทางตำรวจฉีดพ่นสลายการชุมนุม พบว่าสารดังกล่าวคือด่างทับทิม หรือสารโปแตส เซียมเปอร์มังกาเนต ที่ใช้ละลายน้ำผสมแช่ผักผลไม้ตามบ้าน โดยนำมาผสมกับสารโซเดียมโธโอซัลเฟต เพื่อให้มีสรรพคุณที่ฉีดพ่นได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ฤทธิ์ของสารเคมีทั้ง 2 ชนิดเมื่อทำปฏิกิริยากันแล้วทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีฤทธิ์ระคายเคืองเยื่อบุตา ทางเดินหายใจ และเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำก็จะกลายเป็นกรดกำมะถันอ่อนๆ เทียบเท่ากับน้ำส้มสายชู จึงทำให้คนที่โดนน้ำสีม่วงมีอาการแสบคันได้

พ.ญ.ฉันทนา กล่าวว่า สารเคมีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นอาวุธชีวภาพและไม่ต้องขออนุญาตการใช้ปริมาณสารเคมีจากหน่วยงานควบคุมเนื่องจากสารเคมีทั้ง 2 ไม่เข้าข่ายเป็นอาวุธชีวภาพตามสัญญาสากลว่าด้วยอาวุธเคมี แต่มีการอนุญาตตามกฎหมายในการควบคุมฝูงชน ว่าให้ใช้สารดังกล่าวได้ เพื่อให้เกิดการแยกสีได้ชัดเจน ในขณะที่ตัวสารถูกฉีดพ่นไปโดนเสื้อผ้าของผู้ชุมนุม บางรายไม่ได้ล้างน้ำออกทันที จึงมีอาการแสบคันเป็นผื่นทั้งตามร่างกาย และดวงตา แต่ไม่ได้เป็นน้ำผสมแก๊สน้ำตาที่มีสภาพเป็นของแข็ง ไม่สามารถนำมาละลายน้ำเพื่อฉีดพ่นได้

ยอมรับว่าหากมีการผสมสารดังกล่าวให้เกิดความเข้มข้นมากก็อาจจะเกิดอันตรายต่อการสัมผัสผิวหนังโดยตรงได้ เพราะเข้าข่ายเป็นกรด โดยผู้ชุมนุมสามารถตรวจสอบค่าความเป็นกรดได้ด้วยการใช้กระดาษลิสมัสวัดค่าพีเอช หรือค่าความเป็นกรดด่าง ซึ่งปกติต้องมีค่าไม่น้อยกว่า 6.9-6.5 ถ้ามีฤทธิ์กรด มากกระดาษจะเปลี่ยนเป็นสีส้มจนเกือบแดง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการใช้น้ำด่างทับทิมผสมกับสารโซเดียมโธโอซัลเฟต เพื่อปรามผู้ชุมนุมคงจะไม่มีการผสมสารจนเกินความเข้มข้น กระทั่งมีอันตรายกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างแน่นอน ทั้งนี้แนะนำว่าหากผู้ชุมนุมโดนน้ำสีม่วงแล้วให้รีบหน้าล้างตาออกด้วยน้ำสะอาดทันที เพื่อลดการระคายเคือง

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 4 ธันวาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง