ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - "ใกล้ๆ แค่นี้เอง...ไม่ต้องสวมหมวกกันน็อก" "เดี๋ยวก็มา ตรงนี้เองใกล้ๆ..."

ประโยคง่ายๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ในที่สุดกลายเป็นความประมาทที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดด้วยอุบัติเหตุ ด้วยความชะล่าใจว่า ออกไปข้างนอกแวบเดียวและไปใกล้ๆ นี่เอง จึงไม่จำเป็นต้องสวมหมวกนิรภัย แต่ลืมคิดไปว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เพียวชั่วเสี้ยววินาที ถ้าประมาทก็อาจเสียชีวิตโดยไม่ทันรู้ตัว...

จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกพบว่า ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนกว่า 23 ล้านคัน สอดคล้องกับอัตราการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต ในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งเกิดจากการสวมหมวกนิรภัยในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงได้เดินหน้ารณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยผนึกกำลังกับ 26 องค์กร เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน "องค์กรต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100"

ทั้งนี้เป็นเพราะคนไทยเป็นเหยื่ออุบัติเหตุ ตายชั่วโมงละ 1 คน และยิ่งเป็นเรื่องเศร้าหนักเข้าไปอีก เมื่อพบว่า คนที่ประสบอุบัติเหตุหลัก 1 ใน 3 เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนใหญ่ตาย เจ็บ พิการ จากมอเตอร์ไซค์ โดยมีเหตุมาจากไม่สวมหมวกนิรภัย

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สสส.ได้จัดพิธีประกาศเจตนารมณ์องค์กรต้นแบบ สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีองค์กรต้นแบบ 26 องค์กร โดย สสส.ร่วมกับคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัตเหตุจราจรระดับจังหวัด และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมผลักดันให้สังคมไทยก้าวสู่ทศวรรษความปลอดภัยทางถนน โดยจัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ "องค์กรต้นแบบ ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์" เพื่อร่วมสร้างองค์กรต้นแบบส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย สร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรในองค์กร และสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศ

จากผลการสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของคนไทย โดยมูลนิธิโรคเอดส์ ตั้งแต่ปี 2553-2555 พบว่า คนไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง 44 เปอร์เซ็นต์ 46 เปอร์เซ็นต์ และ 43 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์เพื่อให้องค์กรต่างๆ และประชาชนหันมาดูแลความปลอดภัยด้วยการสวมหมวกนิรภัยอีกด้วย

ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น หนึ่งในองค์กรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่า 12,000 คน หรือวันละ 25-30 คน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 1 คน และทำให้เกิดผู้พิการรายใหม่ปีละกว่า 5,000 คน รวมทั้งบาดเจ็บอีกจำนวนมาก คิดเป็นความสูญเสีย 23,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 2.81 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งก่อน ให้เกิดปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ สังคมตามมา จาก ข้อมูลย์ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า 2 ใน 3 ของประชากรไทยในกลุ่มแรงงานเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการเดินทางมาทำงานและระหว่างการทำงาน โดย 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากรถจักรยานยนต์

ครม.ได้มีมติกำหนดให้ปี พ.ศ.2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในปี 2663 และตั้งแต่ปี 2554-2557 ถือเป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเร่งรณรงค์ให้นไทยเห็นความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัย การขับเคลื่อนทั้งองค์กร ทั้งสถานประกอบการ บริษัทเอกชน โรงงาน โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ถือเป็นการสร้างต้นแบบทางสังคม ทำให้เป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จ ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 4 ธันวาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง