ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTVผู้จัดการรายวัน -บรรดาระบบบริการสุขภาพของไทยทั้ง 3 กองทุนประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยกรมบัญชีกลาง กองทุนประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.) และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ดูเหมือนว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพฯ (สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกลุ่มบัตรทอง) จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากกว่ากองทุนอื่นๆ

เพราะนับตั้งแต่ตั้ง สปสช.ขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2545 เพื่อดูแลผู้ที่ไม่อยู่ในสิทธิข้าราชการและประกันสังคมได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้น ระยะเวลากว่า 11 ปีสปสช.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มาโดยตลอดโดยเฉพาะช่วงหลังที่รัฐบาลเน้นเรื่องการบูรณาการ3 กองทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนต้องไม่ลดลง โดยจะยกระดับสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนขึ้นไปให้เท่ากันและมีมาตรฐานเดียว

ซึ่งแปลได้อย่างชัดเจนว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพฯซึ่งกำเนิดขึ้นในภายหลัง และมีสิทธิประโยชน์น้อยกว่าทุกกองทุนกำลังจะได้รับการยกระดับให้ขึ้นมาเท่าเทียม จนกระทั่งเกิดกระแสเสียงขึ้นมาว่า กองทุนประกันสังคมที่เหล่าแรงงานต้องจ่ายเงินสมทบในฐานะผู้ประกันตนนั้น "ไม่เวิร์ก" เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดูเหมือนจะด้อยกว่าอย่างชัดเจน

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.เพิ่มให้แก่กลุ่มบัตรทอง พบว่า มีทั้งการเพิ่มยาต้านไวรัสเอดส์ในปี 2548 เพิ่มสิทธิประโยชน์ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในปี 2551 เพิ่มการเข้าถึงยากำพร้าในปี 2553 เพิ่มสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายตับในเด็กและการปลูกถ่ายหัวใจในปี 2554 รวมไปถึงขยายสิทธิประโยชน์จากการรับฟังความคิดเห็น เช่น เปลี่ยนหน่วยบริการจาก 2 ครั้งเป็น 4 ครั้ง การเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย การบริหารจัดการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงครบวงจร การเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพง และยาในบัญชี จ (2) เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าในปี 2557 กลุ่มบัตรทองอาจจะต้อง"ฝันค้าง" เพราะ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า ขณะนี้สิทธิประโยชน์ของกลุ่มบัตรทองถือว่ามากพอแล้วในปี 2557 คงไม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ แต่จะพัฒนาที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น

สำหรับข้อเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการรับฟังความเห็น เช่น การเจาะน้ำคร่ำในครรภ์แรก การรักษาแผลผู้ป่วยเบาหวานด้วยออกซิเจนความดันสูง การรักษาภาวะมีบุตรยาก การเข้าถึงวัคซีนมะเร็งปากมดลูก อีสุกอีใส ตับอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การเพิ่มค่าใช้จ่ายให้รพ.ทุรกันดารและเสี่ยงภัย ก็ต้องเฝ้ารอกันต่อไปเช่นกัน

โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช.ยืนยันว่า แม้บอร์ด สปสช.จะเห็นชอบในข้อเสนอ แต่ยังไม่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพราะต้องรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)ประเมินประโยชน์ที่ได้รับและความคุ้มค่าแล้วเสนอกลับมาหากเป็นประโยชน์ก็จะบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ต่อไป ซึ่งจะมีการพิจารณาภายในปี 2557

ทพ.อรรถพร อธิบายเพิ่มว่า แม้จะไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์ แต่ สปสช.จะเดินหน้าดูแลสุขภาพกลุ่มบัตรทองให้ดีขึ้น 4 เรื่องคือ1.การบูรณาการมะเร็ง 3 กองทุน 2.พัฒนาการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว เพราะไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นและใช้งบประมาณดูแลมากขึ้น จึงจะเน้นสอนทักษะให้แก่ญาติหรือลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

"เรื่องนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะผู้สูงอายุไม่อยากมาโรงพยาบาล หากได้มาพักฟื้นที่บ้านก็จะช่วยให้มีอายุยืนขึ้น เพราะมีกำลังใจในการอยู่ต่อ ช่วยลดการรอคิวในโรงพยาบาล และลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการก็จะเหมือนญี่ปุ่นที่งบบานปลาย ทั้งนี้ จะให้ อปท.เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ และมีพยาบาลคอยตรวจเยี่ยมการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หากเจ็บไข้ก็จะมีเจ้าหน้าที่รับมารักษาที่โรงพยาบาล"

3.เพิ่มกลุ่มเป้าหมายการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเดิมที่มี 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 2.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 3.เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี และ 4.ผู้ป่วยทุกอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรคได้แก่ โรคปอด ปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยจะขยายเพิ่มเติมในกลุ่มเด็กอายุ2-14 ปี และ 4.เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโดยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งบอร์ด สปสช.เห็นชอบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2556

คงต้องมาลุ้นว่าในปี 2557 คณะอนุฯสิทธิประโยชน์จะพิจารณาข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นเมื่อใดและเรื่องใดบ้างที่จะเข้าวินคลอดออกมาเป็นสิทธิประโยชน์ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 30 ธันวาคม 2556