ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาชาติธุรกิจ -กลุ่ม ร.พ.กรุงเทพเกาะติดสถานการณ์การเมือง เผยกระทบธุรกิจโรงพยาบาล คนไข้ต่างประเทศลด เลี่ยง กทม. บินไปใช้บริการที่พัทยา-ภูเก็ต-หัวหิน-สิงคโปร์ มั่นใจหากเหตุการณ์สงบกลับมาใช้บริการเหมือนเดิม ประเมินเม็ดเงินลงทุน-เปิดสาขาใหม่ เบนเข็มปั้น "เทเลแคร์คลินิก" เปิดเกมเจาะคนไข้รากหญ้า

น.พ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนปัจจุบันยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก ๆ คือ จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และโอกาสขยายฐานลูกค้าต่างประเทศที่มีมากขึ้น จากความต้องการของชาวต่างประเทศ ที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ทำให้โรงพยาบาลเอกชน ที่มีลูกค้าเป็นต่างชาติได้รับผลกระทบจากจำนวนคนไข้น้อยลง ซึ่งโรงพยาบาลในเครือของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพเองก็พบว่าปริมาณคนไข้ต่างชาติลดลงบ้าง และลูกค้าชาวต่างประเทศที่บินเข้ามาบางส่วนก็จะหันไปใช้บริการตามสาขาในต่างจังหวัดแทน อาทิ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เป็นต้น

"การชุมนุมประท้วงมีผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมีหลายสาขา บางทีมีลูกค้าต่างชาติลด แต่บางสาขาก็มีคนไข้ต่างประเทศเพิ่ม ซึ่งโดยภาพรวมชาวต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นในบริการทางการแพทย์ของไทย และเชื่อว่าเมื่อเหตุการณ์นิ่งสถานการณ์ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และช่วงนี้มีชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่บินไปใช้บริการของโรงพยาบาลในสิงคโปร์ ส่วนคนไทย ถ้าไม่มีอาการหนักก็ยังไม่ไปโรงพยาบาล หรืออะไรที่รอได้ก็รอ"

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจกลุ่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ ปี 2557 จะระวังการลงทุนเปิดสาขาใหม่และการซื้อกิจการ โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการโรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก และจะเปิดโรงพยาบาลกรุงเทพไชน่าทาวน์ วันที่ 31 มกราคม และโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ วันที่ 6 เมษายน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ ขอนแก่นและกัมพูชา แต่จะยืดระยะเวลาการเปิดออกไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ปัจจุบันมี 32 สาขา โดยเป้าหมายจะเปิดครบ 50 สาขา ในปี 2558 ซึ่งเดิมคาดว่าจะเร็วขึ้นเป็น ปี 2557 นั้น อาจจะชะลอออกไปอีก 1-2 ปี หรืออย่างน้อยภายในปี 2559

"ตอนนี้เน้นยืดการลงทุน คงไม่มีการลงทุนมากนัก ที่ผ่านมาเราค่อนข้าง แอ็กเกรสซีฟในการลงทุน แต่ปีนี้เน้นตั้งรับมากกว่า เน้นการทำกำไร สำหรับ นักลงทุน การเจรจามีเข้ามาตลอดเวลา แต่ระมัดระวังมากขึ้น การลงทุนอื่น ๆ ก็เหมือนเดิม การก่อสร้างไม่หยุด แต่ยืดเวลาเปิดออกไป งบฯลงทุนอาจจะใช้ลดลง ตอนนี้ประชุมกลยุทธ์ทุกอาทิตย์ งบประมาณทุกเดือน ถ้าสถานการณ์สิ้นสุดเร็วก็ไม่น่าจะมีปัญหา"

น.พ.ชาตรีกล่าวว่า ล่าสุดได้ลงทุนเปิดเทเลแคร์คลินิก ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ที่ได้ทดลองให้บริการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ปัจจุบันมี 3 สาขา อาทิ มีนบุรี, เจริญกรุง 93 และวัชรพล ใช้พื้นที่เฉลี่ย 290-350 ตร.ม.ขึ้นไป ลงทุน 10-20 ล้านบาท ดูแลคนไข้ในรัศมี 5 กิโลเมตร คุ้มทุนใน 7 ปี วางคอนเซ็ปต์เป็นพันธมิตรกับโลคอลคลินิก หรือคลินิกที่อยู่บริเวณรอบ ๆ ด้วยการเป็นพันธมิตรในการส่งต่อคนไข้ การดูแลด้านห้องแล็บและเอกซเรย์ เบื้องต้นจะเปิดอีก 2 แห่ง ตั้งเป้าจะมีเทเลแคร์คลินิกที่ลงทุนเอง 32 แห่ง และมีคลินิกเครือข่ายเข้าร่วมรวม 150 แห่งใน 3 ปี ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ โรงพยาบาลในเครือก็มีการลงทุนคลินิกอยู่บ้างแล้ว อาทิ สมิติเวชมี 3 สาขา บีเอ็นเอช 2 สาขา พญาไท 2 สาขา แต่ในอนาคตสนใจจะปรับให้เป็นรูปแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ การลงทุนคลินิกเพราะต้องการขยายโอกาสทางการบริการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง และมีมาตรฐานเดียวกับ โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่อยู่อาศัยห่างไกลจากโรงพยาบาล ซึ่งเดินทางมาไม่สะดวก และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความรู้สึกว่า ค่ารักษาแพง เพราะคลินิกคิดค่าบริการ ที่เข้าถึงได้ ทั้งตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะก้าว สู่เมดิคอลฮับของอาเซียนในปี 2558 และขึ้นเป็นผู้นำทางการแพทย์ระดับเอเชีย-แปซิฟิก

"โมเดลธุรกิจครอบคลุมการให้บริการลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งระดับบน กลาง และตอนนี้ จะเข้าถึงชุมชน เจาะลึกถึงระดับรากหญ้า ทำให้คนนึกถึงเราในระยะยาว จากคนที่ไปใช้บริการทุกโรงพยาบาล ก็จะหันมาใช้บริการของโรงพยาบาลกรุงเทพที่เดียว"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 - 22 ม.ค. 2557