ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยรัฐ - สถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในฐานะผู้ร่วมชุมนุมยังคงปักหลักตามจุดชุมนุมตามเวทีต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ และปรับตัวดูแลตัวเองระหว่างร่วมกิจกรรมทางการเมือง ที่มีการรวมกลุ่มประชาชนจำนวนมากในพื้นที่เดียวกันเช่นนี้ จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือดูแลในแง่ของสุขภาพ และรักษาบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ จากทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ที่ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชน

"ไทยรัฐออนไลน์" ติดตามเรื่องดังกล่าว พร้อมสอบถามไปยัง นพ.ฐปนัท ศรีธาราธิคุณ แพทย์อาสาหน่วยแพทย์ในพื้นที่ชุมนุม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติงาน ว่า สมาชิกกลุ่ม "เครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์" ดำเนินการเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์ฯ ชมรมแพทย์ชนบท บุคลากรทางการแพทย์ 9 สถาบัน และอาสาสมัครทุกวิชาชีพทั่วประเทศ ซึ่งเดิมรู้จักกันในนามของ เต็นท์พยาบาลบ้านดินสอ บริเวณชุมนุมเวทีราชดำเนินหลังจากนั้น ก็มีการกระจายการชุมนุมไปตามจุดต่างๆ 7 จุดสำคัญ ซึ่งทางเราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชน มีการมอบหมายทีมแพทย์ พยาบาล อาสาไปประจำทั้ง 7 จุดสำคัญ หนึ่งในนั้น คือ เวทีการชุมนุมลาดพร้าวที่ตนรับผิดชอบอยู่ จากการเก็บสถิติโดยเฉลี่ย มีผู้รับบริการ 1,200 คนต่อวัน

"ทุกวันจะมีการเก็บสถิติของทางหน่วยแพทย์พยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งโรคในกลุ่มทางเดินหายใจ จะพบมากเป็นอันดับ 1 ทุกวัน โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่พบ อาทิ การปวดศีรษะ ลำดับต่อมาเป็นระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินอาหาร ที่พบอาการของโรคท้องร่วง แต่กลุ่มโรคที่พบมากที่สุด คือ ระบบทางเดินหายใจส่วนบน จากอากาศที่หนาวเย็นขึ้นในช่วงนี้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในแต่ละที่แปรปรวนบ้าง เพราะว่าตอนกลางวันบริเวณที่ชุมนุมนั้น อากาศจะร้อนจัดมาก แต่ในเวลากลางคืนจะมีน้ำค้างและอุณหภูมิที่ลดต่ำลง เนื่องจากบริเวณพื้นที่ชุมนุมมีสภาพการระบายที่ยากลำบากพอสมควร" นพ.ฐปนัท กล่าว

แพทย์อาสา กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงเวลาที่มีผู้ชุมนุมใช้บริการมากสุด คือ ช่วงเวลาเช้า ทางจุดทีมแพทย์บริการประชาชน จะเปิดให้บริการ 08.00-10.00 น. จะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของทางเวที (ช่วง 09.00-10.00 น.) จะมีการมาใช้บริการก่อนจะไปร่วมเคลื่อนไหว อีกรอบหนึ่งจะเป็นช่วงหัวค่ำ คือหลังจากรับประทานอาหารเย็นเรียบร้อยแล้ว ก่อนเวลาที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จะขึ้นปราศรัยในช่วงเย็น จะเป็นอีกหนึ่งช่วงที่ผู้ชุมนุมจะมารับบริการเป็นจำนวนมาก

"ส่วนสถานการณ์ความเครียดของกลุ่มประชาชนที่เข้ามาร่วมชุมนุมนั้น ทางทีมแพทย์ได้มีการเฝ้าระวังอยู่ตลอด ดูลักษณะโดยรวมยังไม่มีเรื่องของความตึงเครียดที่ชัดเจน เนื่องจากมีการหมุนเวียนกิจกรรมการแสดงบนเวที ทั้งการปราศรัย และให้ความบันเทิงอยู่ตลอด ซึ่งหากเกิดภาวะตรงนั้น ทางทีมแพทย์ฯ ก็พร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา" แพทย์อาสา ระบุ

นอกจากนี้ นพ.ฐปนัท ยังเปิดเผยถึงมาตรการ 4 ระดับ ที่ทางทีมแพทย์พยาบาลได้วางเอาไว้ สำหรับดูแลผู้ชุมนุม คือ ขั้นแรก ในช่วงบ่ายประมาณ 14.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่อากาศร้อนอุณหภูมิสูงสุดของวัน จะมีการประกาศรับอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อมารับกระเป๋าผ้าจากทีมแพทย์ฯ ภายในจะประกอบด้วย ยาดม ยาหมอง ผ้าเย็น และผงเกลือแร่ โดยจะเดินแจกตั้งแต่บริเวณหน้าเวทีเป็นต้นไป ถือเป็นการให้บริการเชิงรุก เริ่มให้บริการผ่านมาตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. เป็นต้นมา ยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยเป็นลมแต่อย่างใด

ถัดมาเป็นมาตรการที่ 2 ผู้ชุมนุมที่มารับบริการส่วนใหญ่มักจะมาขอยาดม ยาหมอง ยาแก้ไอทั่วๆ ไป จะมีการจัดหน่วยอาสาสมัครพยาบาลหรือเภสัชกรไว้อำนวยความสะดวกในพื้นที่ส่วนหน้าของบริเวณปฐมพยาบาล ซึ่งจะมีชุดยาแพ็กสำเร็จ สำหรับบริการเบื้องต้น ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้รับบริการที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ได้ถึง 1,108 คน (22 ม.ค. 57) เป็นการลด work load ของงานส่วนนี้

ในส่วนต่อมา กรณีในจุดจ่ายยาแพ็กสำเร็จ ประเมินแล้วว่าควรจะพบแพทย์ เช่น มีอาการเจ็บคอด้วย หรือว่ารับยาไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก จะแนะนำให้มาที่จุดของพยาบาล เพื่อซักประวัติอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยพยาบาลเวชปฏิบัติสามารถสั่งยาในงานภาคสนาม โดยส่งตัวผู้ป่วยต่อมาที่เภสัชกรที่ประจำอยู่ในจุดถัดไป สามารถรับยาได้เลย

แต่ถ้าพยาบาลเวชปฏิบัติไม่แน่ใจเรื่องการรักษา ขั้นตอนสุดท้ายนี้จะส่งพบแพทย์ ในส่วนสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง มียอดพบแพทย์อยู่ที่ 108 ราย (23 ม.ค. 57)

จากมาตรการ 4 ระดับนั้น ทำให้ได้ผลในการรักษาดูแลประชาชนในพื้นที่การชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอสมควร แม้ว่าจำนวนแพทย์อาสาอาจมีความจำกัด แต่ก็มีแพทย์หมุนเวียนมาอย่างสม่ำเสมอ

"ยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมฝากถึงประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุม นั่นคือประชาชนที่จะออกมาร่วมชุมนุมควรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ถ้าเจ็บปวดอยู่ก็ไม่ควรจะออกมาชุมนุม และเมื่อออกมาชุมนุมควรมีการเตรียมตัวดูแลเบื้องต้น โดยการพกยาดม ยาหมอง ผ้าเย็น น้ำดื่ม ผงเกลือแร่มาด้วยตัวเอง ถ้ามีอาการหน้ามืด วิงเวียน จะได้ปฐมพยาบาลตัวเอง" แพทย์อาสาในพื้นที่ชุมนุม กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา: http://www.thairath.co.th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง