ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTV ผู้จัดการรายวัน - หากยังจำกันได้ เมื่อช่วงปี 2541 ข่าวหนึ่งที่โด่งดังและฉาวโฉ่ไปทั่วประเทศเห็นจะไม่พ้นเรื่องการทุจริตสั่งซื้อยา ที่มีการล็อกสเปกสั่งกันเป็นทอดๆ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาล จนถึงเภสัชกรประจำโรงพยาบาลที่มีหน้าที่สั่งซื้อยา ให้ซื้อยาตามรายการที่ระบุจากบริษัทที่กำหนด สุดท้ายก็มีการเปิดโปงถึงกระบวนการและต่อสู้เพื่อที่จะหลุดจากการเป็นแพะรับบาป จนเหล่าเภสัชกรที่ถูกบังคับให้มือทำเรื่องสกปรก ก็กลับมาขาวสะอาดได้อีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิ

บุคคลหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการเปิดโปงครั้งนี้คือ "ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ" เภสัชกรประจำโรงพยาบาลสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมประจำปี 2556 ไปครองหมาดๆ เนื่องด้วยปฏิบัติงานเพื่อสังคมและชุมชนมาโดยตลอด อีกทั้งยังทำงานด้วยความสัตย์ซื่อ ซึ่งกรณีการทุจริตจัดซื้อยาเป็นเครื่องการันตีความดีของเธออย่างชัดเจน

ภญ.ศิริพร เล่าว่า ตอนที่ได้รับใบสั่งให้จัดซื้อรายการยาและวัสดุทางการแพทย์ตามรายชื่อบริษัทที่กำหนดก็รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพราะรายการบางอย่างก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ที่สำคัญงบที่ให้มาในการจัดซื้อขณะนั้นเป็นงบของผู้มีรายได้น้อยจำนวน 1,400 ล้านบาททั่วประเทศ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็เล่าให้ฟังว่านายแพทย์สาธารณสุขขอให้ช่วยจัดซื้อ ตอนนั้นตนคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทราเพียงแห่งเดียว แต่เมื่อลองส่งข่าวปรึกษาหารือกันกับเภสัชกรที่ต่างๆ จึงทราบว่าเราไม่ใช่จังหวัดเดียวที่โดนแบบนี้ แต่กลับพบว่าเป็นขบวนการที่มีการโยงใยทั่วประเทศ

"ตอนนั้นได้ทำบันทึกข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ดำเนินการจัดซื้อ เพราะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เหมือนเราถูกเอาคอไปพาดเขียง ถูกบีบบังคับให้กระทำผิด แต่ผู้อำนวยการก็มาขอร้องว่าให้ช่วยดำเนินการสั่งซื้อ มิเช่นนั้นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอาจถูกย้ายหรือถูกเล่นงาน น้องทำให้พี่ไม่ได้เหรอ ซึ่งเราก็โดนกดดันกันมาเป็นทอดๆ"

เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ในเวลานั้นได้มีการเสนอทางออกอื่นเพื่อให้ความรู้สึกผิดในใจลดลง ภญ.ศิริพร บอกว่า สุดท้ายก็มีการเซ็นชื่อซื้อรายการยาและวัสดุทางการแพทย์ผ่านทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพราะอย่างน้อย อภ.น่าจะมีการกลั่นกรองเหตุผลในการซื้อ ซึ่งเภสัชกรหลายโรงพยาบาลก็เลือกดำเนินการเช่นนี้ แต่ทุกคนก็รู้กันดีว่า แม้จะสั่งซื้อจาก อภ.แต่ยาหรือวัสดุทางการแพทย์เหล่านั้นก็มาจากบริษัทยาที่ถูกล็อกสเปกทั้งนั้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งเราก็พยายามเคลื่อนไหวในที่ถูกล็อกสเปกทั้งนั้น ขณะที่อีกด้ นหนึ่งเร ก็พย มเคลื่อนไหวในนามชมรมแพทย์ชนบทและชมรมเภสัชชนบท โดยรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอมายังผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่รับการตอบสนองมากเท่าไร จนมีการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนมากขึ้น และมีเครือข่ายต่างๆ รวมตัวออกมาสนับสนุนจนสร้างแรงกดดันให้ผู้บริหารต้องตั้งคณะกรรมการสอบ

ผลกระทบจากการคอร์รัปชันซื้อยาในครั้งนั้น ภญ.ศิริพร กล่าวว่า หลังจากเป็นข่าวแรงในสังคม จึงได้ทำการยกเลิกการสั่งซื้อยาจาก อภ. ส่วนเภสัชกรทั่วประเทศต่างถูกตักเตือนด้วยวาจา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลายแห่งตกเป็นจำเลย แต่เมื่อเราพยายามเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลต่างๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นพยานข้อเท็จจริง จนเมื่อเรื่องคลี่คลาย สุดท้ายส่วนใหญ่นายแพทย์สาธารณสุขเป็นระดับล่างสุดที่ถูกตัดสินโทษ

"ช่วงนั้นเสียใจและเครียดมากที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทัดทานไม่ได้ก็จำต้องสั่งซื้อผ่าน อภ. มีเพื่อนคนหนึ่งเสียใจมากบอกว่า ลายเซ็นที่ใช้ลงนามในการสั่งซื้อนั้นจะไม่ใช้ลายเซ็นนั้นอีกต่อไป ส่วนตัวเองรู้สึกเหมือนถูกคนโยนเชือกมาให้ไปผูกคอตาย บังคับให้ทรยศต่อความซื่อสัตย์ แปดเปื้อน แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีการสั่งซื้อ ก็รู้สึกภูมิใจที่เรายืนหยัดต่อสู้เรื่องนี้ มือเรายังไม่แปดเปื้อน ยังบริสุทธิ์ไปได้ตลอด"

ภญ.ศิริพร เล่าอีกว่า ช่วงที่ต่อสู้นั้นก็ทั้งท้อและเครียด เพราะหลายคนบอกว่าอย่าไปสู้กับคนมีอำนาจเลย เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง สู้อย่างไรก็แพ้ แต่ตนก็ขอยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับกำลังใจจากคน

รอบข้าง และผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านี้ไปได้ และแสดงให้เห็นว่าเมื่อเรายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องเราก็เป็นผู้ชนะในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง