ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเรียกพวกเขาหรือเธออย่างไร สังคมไทยในทุกวันนี้ถือว่าค่อนข้างเปิดรับเพศวิถีที่มีความหลากหลายได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่ยังคงปรากฏชัดเจนคือ สิทธิที่มิได้รับการรองรับตามกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิด้านการจดทะเบียนสมรส ซึ่งเชื่อมโยงกับสิทธิอื่นๆ หลายประการ ทั้งมรดก การรักษาพยาบาล ฯลฯ จากจุดเริ่มต้นตรงนี้เองเป็นที่มาของการจัดทำ "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ขึ้น เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมไทยอย่างแท้จริง

"ทุกวันนี้เราได้ยินสังคมไทยพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยกันทุกวัน แต่กลับไม่มีการพูดถึงสิทธิของกลุ่มคนเพศที่ 3 บ้าง กฎหมายบ้านเราเวลานี้ยังต้องปรับปรุงแก้ไขอีกมาก รวมถึงปัญหาใหญ่ คือ ทัศนคติคนไทย ระบบกฎหมาย และผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย เราต้องไม่อยู่แค่กรอบกฎเกณฑ์ที่รองรับเฉพาะคนเพียงสองเพศเท่านั้น"

นางนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร หนึ่งในผู้ร่วมปลุกปั้นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต บอกถึงที่มาของการจัดเสวนา "กฎหมายคู่ชีวิตกับชีวิตคู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ" พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน จัดโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมกับมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร และองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสิทธิความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสื่อสารให้สาธารณชนรับทราบและเข้าใจ และเสนอข้อคิดเห็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร บอกอีกว่า การจะเดินหน้าได้นั้นต้องทำให้คนส่วนใหญ่เห็นคุณูปการของการมีกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะการทำให้เข้าใจถึงความหมายของสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง เรื่องนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมาย และตระหนักว่าการเปิดเผยตัวตนทำให้เราสามารถก้าวข้ามพ้นพันธนาการของมนุษยชาติ และดำรงความเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

ข้อกังวลสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตคือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำออกมาก่อนหน้านี้ กำหนดให้กฎหมายบังคับใช้กับบุคคลที่เป็นคู่ชีวิตเพศเดียวกันเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลข้ามเพศที่ไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นบุคคลรักเพศเดียวกัน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ขณะที่ร่างฉบับของภาคประชาชนจะมีการนำเสนอทางเลือกในการจดทะเบียนคู่ชีวิตสำหรับทุกเพศ ดังนั้นเราเห็นว่าไม่ควรมีการระบุเพศไว้ในกฎหมาย เพราะมุมมองของความหลากหลายทางเพศเนื้อหาควรเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้

"สาระสำคัญ 8 ข้อของร่าง พ.ร.บ.ชีวิตคู่ฉบับภาคประชาชน คือ 1.การรับรองการสมรส ของบุคคลสองคน โดยต้องไม่มีการระบุเพศไว้ในกฎหมาย รวมถึงการยอมรับให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยกับบุคคลที่มีสัญชาติอื่นสามารถทำการจดทะเบียนได้ 2.การได้รับสิทธิทุกประการตามกฎหมายหากมี การจดทะเบียนสมรสกัน 3.ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วย เรื่องการหมั้นตามกฎหมายครอบครัว 4.การปฏิบัติต่อกันของคู่สมรสที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักศักดิ์ ศรีความเป็นมนุษย์ 5.การจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามบัญญัติไว้ในกฎหมายครอบครัว 6.การสิ้นการสมรสด้วยการหย่าเป็นไปตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย และเพิ่มเติมหลักการยุติความสัมพันธ์โดยไม่มีความผิด 7.การรับบุตรบุญธรรมสามารถกระ ทำได้โดยเป็นไปตามบทบัญญัติในกฎหมายครอบ ครัว และ 8.ให้ถือว่าคู่สมรสที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับคู่สมรสตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว" ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าว

ด้านนางสาวพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ บอกถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับภาคประชาชนว่า ประมาณสิ้นเดือนมีนาคมนี้เนื้อหาของหลักการในเบื้องต้นน่าจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ภาคทั่วประเทศ หลังจากนั้นคณะทำงานจะทำการปรับแก้ร่างให้สมบูรณ์ ก่อนนำเข้าสู่ขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้ได้จำนวน 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณาต่อไป

ร่างกฎหมายดังกล่าวจะสามารถออกมาใช้ได้จริงหรือไม่นั้น ไม่ใช่มีเพียงแค่แรงผลักดันจากคณะกรรมาธิการ หรือจากกลุ่มเพศที่ 3 เท่านั้น แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากชายจริงหญิงแท้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมที่ล้วนได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นเดียวกัน.

การจะเดินหน้าได้นั้นต้องทำให้คนส่วนใหญ่เห็นคุณูปการของการมีกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะการทำให้เข้าใจถึงความหมายของสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง เรื่องนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมาย และตระหนักว่าการเปิดเผยตัวตนทำให้เราสามารถก้าวข้ามพ้นพันธนาการของมนุษยชาติ และดำรงความเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557