ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปัญหาการขาดแคลนกําลังคนด้านสาธารณสุขภาครัฐ

ในปี 2549 องค์การอนามัยโลก ได้กําหนดให้ปัญหากําลังคนทางด้านสาธารณสุขเป็นปัญหาของโลกและอยู่ในขั้นวิกฤติใน 57 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์มีการขาดแคลนประมาณ 2.4 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขาดแคลนใน 11 ประเทศสูงถึง 1.2 ล้านคน

สัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐของไทยต่อประชากรอยู่ในระดับต่ําประมาณ 30 คนต่อประชากรแสนคน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 ระบุว่า ประเทศไทยมีแพทยภาครัฐ 25,932 คน ต่ํากว่าที่ควรจะมีคือ 38,340 คนถึงราว 12,000 คน นอกจากนั้นการกระจายแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกันทําให้พื้นที่ชนบทมีปัญหาการขาดแคลนที่รุนแรง

กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปัญหาการกระจายตัวและขาดแคลนในบางพื้นที่ ทำให้ต้องดูแลประชากรมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น  สำหรับแพทย์สัดส่วนที่ควรจะเป็นคือ 1 คนต่อประชากร 5,000 คน ทันตแพทย์สัดส่วนที่ควรจะเป็นคือ 1 ต่อ 10,000 คน  โดยมีแพทย์ลาออกจากระบบ เช่น ลาศึกษาต่อ โอนสังกัดหน่วยงานอื่น ประกอบภารกิจส่วนตัว เฉลี่ยปีละ 600 คน ในปี 2555 จำนวน 675 คน ส่วนใหญ่ลาศึกษาต่อ และขอกลับมารับราชการใหม่หลังจากสำเร็จการศึกษาและฝึกอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะทางปีละประมาณ 100 คน  

ในภาพรวมบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข  ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัว  โดยมีแพทย์ในระบบ 13,266 คน  ความต้องการแพทย์เต็มระบบจำนวน 13,764 คน ทันตแพทย์ต้องการ 7,444 คนมีแล้ว 4,123 คน  ยังขาดอีก 3,321 คน ส่วนเภสัชกรต้องการ 7,051 คน มีแล้ว 5,814 คน ยังขาด 1,237 คน  และพยาบาล ต้องการ 111,168 คน มีแล้ว 64,655 คน ยังขาด 46,513 คน เป็นสาขาที่ขาดแคลนมากที่สุด

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับระบบการแพทย์ที่เน้นการรักษามากกว่าการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งทําให้ประชาชนจํานวนมากต้องเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บที่สามารถป้องกันได้ นอกจากนั้นการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนได้ทําให้การดูแลรักษาสุขภาพกลายเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์ จนทําให้แพทย์ที่มีอยู่ในระบบบริการทางการแพทย์มีสัดส่วนเป็นแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ77.7

ในขณะที่ระบบบริการเชิงรุก และหน่วยบริการปฐมภูมิที่ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมในระดับชุมชนและครอบครัว กลับได้รับการส่งเสริมและเป็นที่ยอมรับอย่างจํากัด การสร้างระบบบริการปฐมภูมิที่ให้บริการผสมผสานทั้งงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพให้สามารถให้บริการอย่างทั่วถึงใกล้บ้าน จะเป็นยุทธศาสตร์สําคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว

การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยังเกิดจากภาวะสมองไหลที่แพทย์ลาออกจากโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการแก่สาธารณชนไปทํางานในระบบเอกชนมากขึ้น ธุรกิจทางการแพทย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ทําให้มีการขยายตัวของโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ โดยในปี 2556 มีโรงพยาบาลเอกชนจํานวน 353 แห่งทั่วประเทศ ในจํานวนนี้มี 107 แห่งอยู่ในกรุงเทพฯ การเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยิ่งทําให้การกระจายแพทย์ขาดความสมดุลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการดูดซับบุคลากรภาครัฐสู่ภาคเอกชนและชนบทสู่เมือง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีแพทย์ลาออกจากการทํางานในโรงพยาบาลภาครัฐปีละประมาณ 500 คน  

นอกจากนั้น นโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติ ที่มุ่งทําการแพทย์ให้เป็นการค้า เพื่อหารายได้จากการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยที่มีฐานะดีจากต่างชาติ ได้ทําให้เกิดสมองไหลของแพทย์จากภาคสาธารณะไปสู่ภาคเอกชนรายได้สูงเป็นจํานวนมาก ทั้งนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มารับบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นจาก 33 ล้านคนในปี 2543 เป็น 121 ล้านคน และ 328 ล้านคนในปี 2553 และ 2563 โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 26.7และ 17.1 ตามลําดับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง