ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เมื่อวันที่ 13 มีนาคม กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ "แม่วัยใส ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น"

นายคาสปาร์ พีค ผู้แทนประจำประเทศไทย UNFPA กล่าวว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความยากจน แต่ในไทยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคือ ความขัดแย้งกันระหว่างความเชื่อดั้งเดิมบางอย่างกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของวัยรุ่นยุคใหม่ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมทางเพศด้วย

ข้อมูลพบว่าทุกๆ ปี มีหญิงกว่า 125,000 คนที่อายุน้อยกว่า 19 ปี ในประเทศไทยเป็นแม่วัยใส เป็นอัตรา 1 ใน 20 ของหญิงสาวที่อยู่ในกลุ่มอายุเดียวกัน จำนวนนี้มีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 4,000 คน เป็นคุณแม่วัยรุ่น หมายความว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรทุกวัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการคลอดบุตรของวัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 10-14 ปี มีอัตราการคลอดต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 1.1 ในปี 2551 เป็น 1.8 ในปี 2555 ขณะที่กลุ่มอายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดบุตรสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 50.1 ในปี 2551 เป็น 53.8 ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คนในปี 2555

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในปี 2555 มีการคลอดบุตรจำนวน 801,737 คน และจำนวน 129,451 คน เกิดจากคุณแม่อายุ 15-19 ปี หมายความว่า ผู้หญิงอายุ 15-19 ปี ทุกๆ 1,000 คน จะมีผู้หญิงจำนวน 54 คนในช่วงวัยเดียวกันที่กลายเป็นคุณแม่ ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับ 31.1 คน ต่อ 1,000 คนในปี 2543

"เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศใกล้เคียง ประเทศไทยมีอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี อยู่ในระดับสูงกว่าภูมิภาค โดยญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ มีเพียง 2-6 รายต่อ 1,000 คน และสูงกว่าของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีค่าเฉลี่ยที่ 35 รายต่อ 1,000 คน" นายอาคมกล่าว

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 15 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง