ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - ความคืบหน้าเพลิงไหม้บ่อขยะขนาดใหญ่ในซอยแพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ฝุ่นควันและสารพิษ ขยายวงกว้างออกไป ชุมชนที่อยู่ใต้กระแสลมได้รับผลกระทบ โดยตรง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรปราการ ได้ประชุมวอร์รูมพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีนพ.นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์ สสจ.สมุทรปราการ ผู้บัญชาการ "วอร์รูม ไฟไหม้บ่อขยะซอยแพรกษา" กล่าวว่า ควันและสารพิษขณะนี้มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยบานขึ้นไปทางเหนือ กระแสลมทะเลพัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือทำให้ฝุ่นควันและสารพิษกระจายตัวออกไป

จากการตรวจวัดของกรมควบคุม มลพิษ พบว่า 1.พื้นที่ในบ่อขยะมีคาร์บอนมอนอกไซด์สูงถึง 175 ppm 2.พื้นที่รัศมีรอบบ่อขยะ 200 เมตร มีคาร์บอนมอนอกไซด์ 10-15 ppm ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 10-12 ppm 3.พื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร มีค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5-8ppm ภายในรัศมีนี้ถือว่าเป็นโซนสีแดงต้องอพยพชาวบ้านออกทั้งหมดแต่ปัญหาคือ ประชาชนเกือบแทบทั้งหมดยังไม่ยอมย้ายออก หมู่บ้านในรัศมีมี 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านธันยพร และหมู่บ้านสหกรณ์ 4.พื้นที่รัศมี 2 กิโลเมตร มีค่าซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ 2-4 ppm จัดเป็นพื้นที่สีเหลือง กลุ่มเสี่ยง อาทิ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัว ต้องย้ายออก สำหรับพื้นที่ในรัศมีนี้มี 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านเนเชอรา หมู่บ้านศุภาลัย และ หมู่บ้านปัญฐิญา และ 5.พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร จัดเป็นพื้นที่สีเขียว

"ที่น่าห่วงคือยังมีประชาชน เรือนหมื่น ที่ยังไม่ยอมอพยพออก ที่น่ากังวลนอกจากนี้คือหากกระแสลมมีการพัดเปลี่ยนทิศทางโดยพัดลงมาทางใต้บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปูซึ่งบริเวณดังกล่าว มีชุมชนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น ขณะที่ศูนย์อพยพ เห็นควรว่าอาจต้องเปลี่ยนที่เพราะควันและสารพิษอาจลอยไปในบริเวณมากขึ้น จะต้องตรวจวัดมลพิษในอากาศอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายปกครองด้วย" นพ.นำพล ย้ำ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังการ ประชุมวอร์รูมว่าการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ขยะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับการสัมผัส 1.กลุ่มเสี่ยงสูงสุดที่มีการสัมผัสรุนแรง เช่นนักผจญเพลิง ผู้สื่อข่าว วินมอเตอร์ไซค์ อาสาสมัคร รปภ.ตามหมู่บ้านต่างๆที่ใกล้บ่อขยะและทหารประมาณ 500 คน ภายในสัปดาห์จะเริ่มนัดให้มาตรวจสุขภาพที่รพ.สมุทรปราการ ทุกคนจะตรวจอย่างละเอียด เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด สมรรถภาพปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หาสารก่อมะเร็งต่างๆ 2.กลุ่มปานกลาง คือประชาชนที่อยู่ในรัศมีรอบบ่อขยะ 200 เมตร จะมีแนวทางตรวจสุขภาพเบื้องต้น และ 3.กลุ่มนอกพื้นที่ 200 เมตรขึ้นไป จะมีการซักประวัติ คัดกรองความเสี่ยง

ส่วนการให้บริการเฉพาะหน้าได้ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 จุด คือ อบต.แพรกษา เป็นจุดที่ตั้งศูนย์อพยพและวัดแพรกษา มีจำนวนผู้อพยพเพียง 200 คนเท่านั้น โดยจะมีทีมสุขภาพจิตดูแลประชาชนรวมถึงมีทีมประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่อพยพแบบเคาะประตูบ้าน เพราะยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ยอมอพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเสี่ยง อาทิ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ถ้าหากไม่ย้ายออกจะเกิดอันตรายได้ง่ายกว่าคนปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ด้าน น.ส.กิตติยา สุขแก้ว มารดา ที่พาลูกชายมาตรวจรักษา ที่ รพ. สมุทรปราการ หลังได้รับผลกระทบจากควันไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา กล่าวว่าบ้านอยู่ห่างจากบ่อขยะแพรกษา 1 กิโลเมตร เมื่อ 2 วันก่อน ที่มีควันไฟฟุ้งกระจาย ทำให้ลูกชายอายุ 1 ขวบ ที่มีโรคประจำตัวหลอดลมอักเสบ เริ่มมีอาการหอบ และวันนี้หอบมากขึ้นจนเหนื่อย และนอนไม่ได้ จึงพาลูกชายมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบ จึงให้ออกซิเจนและให้พักรักษาในโรงพยาบาล

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 20 มีนาคม 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง