ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นประจำทุกปีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ด้วยการมอบรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ ในฐานะที่  อสม.เหล่านี้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้มีสุขภาพกายและใจที่ดี

จาก อสม.ทั่วประเทศที่มีมากถึง 1,040,000 คน นางวิมล นวลศรี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2557 ในสาขาสุขภาพจิตชุมชน ตลอดระยะเวลา 13 ปีของการเป็น อสม. ทำให้วิมล ต้องเสียสละแรงกาย แรงใจ ในการทำงานเพื่อให้คนในพื้นที่ หมู่บ้านแหลมมะขาม อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้มีสุขภาพจิตที่ดีผ่านการทำงานโดยใช้หลักศาสนาเป็นเครื่องมือนำพาความสุขมาสู่ประชาชนในพื้นที่

“การได้รับรางวัลในครั้งนี้รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ จากที่เคยได้รับรางวัลต่างๆมา ทำให้รู้สึกว่า การเป็น อสม.ที่ดีได้นั้น ต้องเริ่มจากจิตใจที่สูง อยากเห็นผู้อื่นมีความสุข”  วิมล กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

วิมล เล่าว่า  ประชาชนในพื้นที่ของตนเองส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม การทำงานของเธอจึงใช้หลักของศาสนาอิสลามเข้ามาช่วยในการทำงาน ด้วยความเชื่อที่ว่า คนที่มีสุขภาพจิตดี ทุกอย่างจะดีตามไปด้วย

สำหรับ 3 กิจกรรมเด่นที่ วิมล ทำให้กับพื้นที่  ได้แก่ 1. ขึ้นเปลลูกรัก เป็นการผสมผสานพิธีขึ้นอู่ และรับขวัญโดยโต๊ะครู หรือ อิหม่าม เพื่อให้เกิดศิริมงคลแก่เด็ก และขณะเดียวกันเป็นการรวมญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน มาช่วยกันจัดงาน  2.สมุดเล็กติดตามถามรัก โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจิตเวชเมื่อได้รับการรักษา หากครอบครัวไม่ใส่ใจ ผู้ป่วยอาจได้กินยาได้ไม่ครบตามที่แพทย์สั่งหรือขาดการติดต่อลืมนัด สมุดเล่มนี้จะคลายบันทึกช่วยจำของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งเป็นสื่อที่ใช้ในการซักถามข้อมูล และข้อดีของสมุดเล่มนี้คือ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เขียนระบายความรู้สึกหรือต้องการได้ และ 3.บัตรทักเพราะรักเธอ เป็นการเสี่ยงเซียมซีทั่วไป ให้ชาวบ้านได้เสี่ยงหยิบแล้วอ่านคำทำนาย ที่จะเป็นคำแนะนำตามหลักของศาสนาอิสลาม 

ทั้ง 3 โครงการนี้ เป็นการทำงานอีกมิติหนึ่งที่เชื่อมโยงต่อการพัฒนาสุขภาพจิต ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งที่บ้านแหลมมะขามประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงได้นำเอาหลักคำสอนของศาสนาเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงา

"งานทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงกับการทำงานด้านสุขภาพจิตได้เสมอ" นางวิมล กล่าว

จากการที่วิมลเป็นคนที่เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว จึงคิดว่าสุขภาพจิตของเราจะดีได้จะต้องเริ่มจากที่ครอบครัวก่อน จึงได้เริ่มทำโครงการ "หมู่บ้านลั้นลานำพาสุข" โดยเริ่มจากทุกบ้านยิ้มให้กันทุกวัน ก่อนทำละหมาดจะยิ้มแย้มให้กันมีการออกกำลังกาย กินอาหารร่วมกัน โดยเริ่มจากครอบครัวก่อนจากนั้นจะขยายลงสู่ชุมชน ซึ่งบ้านไหนทำได้ จะมีการติดสติ๊กเกอร์ให้เป็นเครื่องหมายการันตีมาบ้านนี้ทำได้มีความสุข เป็นตัวอย่างบ้านแห่งความสุข

ส่วนกระแสการเมืองที่มีความร้อนแรงในทุกวันนี้  วิมล บอกว่า ในพื้นที่ของเธอเอง มีทั้งสองฝ่าย ทุกคนสามารถมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกันได้ แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่ง อสม.จะเป็นผู้ช่วยโน้มน้าวให้คนที่มีความเห็นต่างกัน รู้ว่า ความเห็นที่ต่างกันนั้น ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

"ที่หมู่บ้าน มีคนหลายกลุ่มไปร่วมชุมนุมทางการเมืองกันที่กรุงเทพ ทุกคนในหมู่บ้านจะไม่มีการต่อว่ากัน จะมีเพียงบอกว่า ถ้าไปแล้วต้องดูแลตนเองให้ดี ส่งข่าวคราวให้คนที่บ้านได้ทราบบ้าง เพราะการชุมนุมทางการเมืองย่อมมีเหตุอะไรเกิดขึ้นมาก็ได้" 

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่วิมลเข้ามาทำงาน อสม.ด้วยใจที่รัก แม้ในวันที่เธอท้อแท้หรือเหนื่อยล้า "ครอบครัว" คือสิ่งแรกที่เป็นกำลังใจให้กับเธอมาโดยตลอด ซึ่งเธอว่า ที่เธอมายืนถึงตรงจุดนี้ได้เพราะครอบครัว ที่มีความรักความเข้าใจในกับตัวเธอ รวมทั้งงานที่เธอทำด้วย นับว่าเป็นความเสียสละของครอบครัว 

สุดท้าย อสม.ดีเด่นระดับชาติ อยากจะฝากถึง อสม.รุ่นใหม่ ว่า อยากได้ อสม.รุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีการศึกษาสูงๆ มีความสามารถ ให้นำความรู้ที่มีนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนสูงสุด เพราะงาน อสม. เป็นงานที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ตนเองและครอบครัว เป็นงานที่ต้องใช้ความเสียสละอย่างมาก เพื่อทำงานให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาเหมือนทุกวันนี้ อสม.บางคนอาจได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ จึงอยากให้ อสม.ทุกคนมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ที่จะทำงานเพื่อชุมชนต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง