ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นายพัฒนพงษ์ เจียมเผ่า อายุ 57 ปี ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ร้องเรียนโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าสลับเวชระเบียน ส่งผลต่อการรักษา ว่าการถูกสลับเวชระเบียน ทำให้ตนได้รับความเสียหายจากการรักษา เพราะต้องทำการฟอกไตเร็วขึ้น จึงควรเป็นตัวอย่างเพื่อไม่ให้เกิดกับผู้ป่วยรายอื่นอีก โดยตนได้แจ้งความดำเนินคดี ขณะเดียวกันได้ยื่นต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขต หรือ สปสช.เขต เพื่อยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาความเสียหายทางการแพทย์ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แต่ สปสช.เขต บอกว่าไม่เข้าข่าย ทั้งที่ตนเป็นผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาลและได้รับการรักษามาตลอด กลายเป็นว่าความผิดพลาดของโรงพยาบาลในการสลับเวชระเบียน ไม่มีผลใดๆ เลยหรืออย่างไร ล่าสุด จึงยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปยัง สปสช.ส่วนกลาง เพื่อขอความเป็นธรรม

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของ สปสช. ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจกรณีอุทธรณ์ คณะที่ 3 จะพิจารณาวันที่ 18 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ระบุชัดในการช่วยเหลือผู้รับบริการหรือผู้อุปการะเพื่อบรรเทาความเดือนร้อน กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล เป็นเหตุสุดวิสัยของหน่วยบริการโดยมิต้องรอพิสูจน์ การช่วยเหลือนั้นจะแบ่งเป็นกรณี คือกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไม่เกิน 100,000 บาท กรณีของนายพัฒนพงษ์นั้น คงต้องรอการพิจารณาก่อนว่าเข้าข่ายหรือไม่

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 1 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง