ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตเผยวัยแรงงานยังคงฆ่าตัวตายสูง แนะ ผ่อนคลาย ดูแลใจกาย สร้างสัมพันธ์ ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว  

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วน 1323 ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา พบ วัยแรงงาน โดยเฉพาะ ช่วงอายุ 26-30 ปี ขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด จำนวน 12,333 ราย รองลงมา คือ ช่วงอายุ 21-25 ปี จำนวน 9,076 ราย และ 36-40 ปี จำนวน 8,774รายตามลำดับ ปัญหาที่ขอปรึกษา 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. โรคทางจิตเวช 2.ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ. 3.ปัญหาครอบครัว 4.ปัญหาความรัก และ5.ปัญหาการพนัน นอกจากนี้ จากรายงานการฆ่าตัวตายของประเทศไทย นับแต่ปี 2540-2555 ก็ยังพบว่า วัยแรงงานยังคงเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยช่วงอายุ 20-29 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 17,429 ราย รองลงมา คือ ช่วงอายุ 30-39 ปี จำนวน 16,719 ราย และ ช่วงอายุ 40-49 ปี  จำนวน 12,081 ราย ตามลำดับ ล่าสุด ปี 2555 ช่วงอายุ 30-39 ปี ฆ่าตัวตายมากที่สุด จำนวน 947 ราย รองลงมา คือ ช่วงอายุ 40-49 ปี 828 ราย และ ช่วงอายุ 20-29 ปี จำนวน 686 ราย ตามลำดับ กลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงานทำร้ายตนเองมากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มอาชีพเกษตรกร และผู้ไม่มีรายได้ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึง ความเครียดและความกดดันในชีวิตที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งหากแรงงานไทยเกิดความเครียดและไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม ย่อมมีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า นอกจากสถานการณ์ข้างต้นแล้ว จากรายงานผลการสำรวจความสุขคนทำงานในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2555 โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รอบครึ่งปีหลัง (ก.ค. – ธ.ค. 2555) ยังพบว่า ความสุขคนทำงานระดับประเทศมีค่าคะแนนเฉลี่ย 60.9 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับ “HAPPY” หรือมีความสุขตามเป้าหมาย (คะแนน 50.00 – 74.99) แต่ก็ยังต่ำกว่าการสำรวจในรอบครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2555) เล็กน้อย (ค่าคะแนนเฉลี่ย 61.1)  โดย มิติที่คนทำงานมีความสุขสูงสุด คือ มิติ จิตวิญญาณดี (ค่าคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 68.8 ) ได้แก่ การที่บุคคลมีความตระหนักถึงคุณธรรม และศีลธรรม ปฏิบัติกิจตามศาสนาเพื่อให้จิตใจสงบ รู้แพ้รู้ชนะ รู้จักให้ และมีความกตัญญูรู้คุณ ส่วนมิติที่มีค่าคะแนนต่ำที่สุด คือ มิติ ผ่อนคลายดี (ค่าคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 52.0) ได้แก่ การที่บุคคลสามารถบริหารเวลาในแต่ละวันเพื่อการพักผ่อนได้อย่างมีคุณภาพ พอใจกับการบริหารจัดการปัญหาของตนเอง และทำชีวิตให้ง่าย สบายๆ ห่างไกลความเครียด ที่ถึงแม้ว่า จะจัดอยู่ในระดับ “HAPPY” แต่ระดับคะแนน ก็เกือบตกอยู่ในค่าคะแนนเฉลี่ยที่ต่ำกว่า 50.0 หรืออยู่ในระดับ “UNHAPPY”(คะแนน 25.00 – 49.99) นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ  ในมิติ ครอบครัว ที่พบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ลดลงจาก 62.5 ในรอบครึ่งปีแรก เป็น 59.4 ในรอบครึ่งปีหลัง ซึ่งหมายถึง บุคคลมีความรู้สึกผูกพัน เชื่อใจ มั่นใจ อุ่นใจ มีเวลาในการทำกิจกรรมสร้างความสุขร่วมกันในครอบครัวน้อยลง ซึ่งการมีเวลาให้กันในครอบครัวจะส่งผลต่อความสุขหรือสุขภาพจิตของบุคคล ดังผลสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย พ.ศ.2551-2553 ที่พบว่า ครอบครัวที่สมาชิกมีเวลาให้แก่กันอย่างเพียงพอมีระดับสุขภาพจิตดีที่สุด ในขณะที่ครอบครัวที่สมาชิกมีเวลาให้แก่กันไม่เพียงพอจะมีคะแนนสุขภาพจิตต่ำที่สุด

สำหรับข้อแนะนำ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะให้

1.ดูแลสุขภาพกาย ได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ  รับประทานอาหารที่เสริมสร้างทั้งพลังงานและอารมณ์ที่ดี  ตลอดจนออกกำลังกายเพื่อคลายเครียด  รับแสงแดดอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา

2.ดูแลสุขภาพใจ รักษาสมดุลระหว่างหน้าที่ความรับผิดชอบและการทำกิจกรรมที่สร้างความสุข ช่วยงานคนอื่น หรือทำสิ่งดี ๆ ให้กับเพื่อนร่วมงานที่ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  ฝึกมีวินัยในตัวเอง ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในแต่ละวัน และทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ลดความสมบูรณ์แบบลงไปบ้าง เพราะยิ่งจะช่วยเพิ่มความเครียดให้มากขึ้น รวมทั้ง สร้างความหวังเพื่อเอาชนะความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังและความคิดทางลบ ตลอดจนทำสิ่งใหม่ ๆ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  มีความสุขกับธรรมชาติและศิลปะ คิดบวก มองเรื่องต่างๆ ในแง่ขำขันบ้าง หรืออยู่ใกล้คนที่มีอารมณ์ขัน คนที่ไม่คิดอะไรมาก พยายามหลีกเลี่ยงการมีความขัดแย้งกับคนอื่น เรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่นรวมถึงตนเอง ที่สำคัญ มีสติ คอยวัดอุณหภูมิความเครียดของตัวเอง  และหาวิธีจัดการกับความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล กลัว และซึมเศร้า ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีที่แตกต่างกัน เช่น ทำสมาธิ หายใจเข้า-ออก ลึก ๆ หามุมสงบนั่งทำใจคนเดียว เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่น  ทำบุญ ทำทาน หรือช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น

3.มีสังคมและสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น   โดยมีใครสักคนที่คอยรับฟัง เข้าใจ เป็นคนที่เราสามารถพูดคุยได้อย่างสบายใจ เป็นที่พึ่งทางใจ ลดความเครียดจากการทำงานได้ดี วิธีการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ได้แก่ การพูดคุย รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ลงมือช่วยเหลือกัน แทนที่จะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา อย่าเอาแต่พูดคุยทางไลน์ ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่เห็นหน้าตา  ให้เวลากับเพื่อน ๆ เลือกคบคนที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน การมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น การเข้าร่วมชมรมหรือร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มที่สนใจ

4.ใช้เวลามีค่าร่วมกันกับครอบครัว โดย อาจเริ่มง่ายๆ ด้วยการสื่อสารกันในครอบครัว ใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกถึงความห่วงใยที่มีต่อกัน หรือแสดงความรักด้วยการสัมผัส หรือการกอด รวมทั้ง ออกแบบและทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน เช่น ดูทีวีด้วยกัน ทำงานบ้านร่วมกัน เล่นกีฬาด้วยกัน ทำอาหารรับประทานร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนาหรือทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน ตลอดจน ช่วยแก้ปัญหาให้กันและกัน เป็นต้น เพื่อให้การใช้เวลาอยู่ร่วมกันของครอบครัวมีคุณค่าและสร้างความสุขทางใจให้แก่กันและกันมากที่สุด

ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้ง สามารถประเมินสภาวะจิตใจหรือความเครียดของตนเองในเบื้องต้นได้ จาก แอพพลิเคชั่น smile hub โดยสามารถดาวน์โหลด ได้ฟรี ทั้งในระบบ Android และ iOS