ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านมา 4 เดือนแล้ว หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับฐานข้อมูลผู้มีสิทธิ์ และพบกลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิจำนวน 95,071 คน ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ตามกองทุนคืนสิทธิรักษาพยาบาลบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติครม. 23 มี.ค.53 แต่จนถึงทุกวันนี้ความชัดเจนของชะตากรรมกลุ่มคนไร้สถานะกว่า 9 หมื่นคนนี้ก็ยังไม่ชัดเจน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. ยังคงถกเถียงถึงทางออกแก่คนกลุ่มนี้โดยที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ส่วนผู้ได้รับผลกระทบหลายคนกำลังรอความหวังอย่างกระสับกระส่ายและไม่มั่นใจ

บิดาและมารดาของนายฉันทวุฒิ ตันธนา เป็นหนึ่งของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่สปสช.ถอดสิทธิออกจากบัตรทองเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2556 นายฉันทวุฒิเล่าว่าบิดาตน อายุ 84 ปีและมารดา อายุ 77 ปี เกิดและโตในประเทศไทย มีใบต่างด้าวถูกต้อง ไม่ได้ขอสัญชาติไทยเพราะเห็นว่าตนเองก็แก่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนได้รับสิทธิบัตรทองมาตั้งแต่เริ่มมีนโยบายบัตรทองในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ตนได้พาบิดาและมารดาไปตามคิวนัดหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา แต่พบว่าทั้งสองถูกถอดสิทธิออกจากบัตรทองเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ทางนายฉันทวุฒิได้พยายามขอความชัดเจนจากทางโรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหา แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผลักใสให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว ราคา 2,800 บาท

“เค้าไม่ใช่คนต่างด้าว เค้าอยู่ไทยมานาน การยัดเยียดให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพเป็นการกระทำ 2 มาตรฐานต่อบุคคลที่เกิดและโตในเมืองไทยเหมือนคนอื่น” เขากล่าว

นายฉันทวุฒิได้ทำการร้องเรียนถึงกลุ่มประกันสุขภาพ สธ. และได้รับการติดต่อกลับมาว่าได้มีการแก้ปัญหาให้เรียบร้อยแล้ว โดยบิดาและมารดาของนายฉันทวุฒิอาจต้องย้ายสิทธิไปอยู่ในกองทุนคืนสิทธิแก่ผู้มีปัญหาทางด้านสถานะและสิทธิตามครม. 2553 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าไม่ได้ให้ข้อมูลถึงรายละเอียดและสิทธิของกองทุนคืนสิทธิฯอย่างชัดเจน ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจแก่นายฉันทวุฒิและครอบครัวว่าตนจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจริงหรือไม่

ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2556-4 เม.ย. 2557 มีผู้ร้องทุกข์มายังสายด่วนสปสช.1330 ในกรณีที่คล้ายคลึงกับกรณีข้างต้นหลายสิบราย ผู้ร้องทุกกรณีมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ทราบว่าตนถูกปลดจากสิทธิบัตรทองเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลครั้งล่าสุด บางรายยอมเสียค่าใช้จ่ายเอง บางรายไม่ขอรับบริการและกลับบ้านไป บางรายแสดงเจตจำนงค์ต้องการสิทธิบัตรทองของตนคืน ทางสปสช.ได้ให้ข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสิทธิและสถานะสิทธิดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายบุคคลกลุ่มนี้ต้องไปใช้สิทธิตามกองทุนคืนสิทธิคนไร้สถานะที่สธ.ดูแลอยู่ และหากไม่ใช่เป็นกลุ่มคนไร้สถานะ ก็ต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ป่วยเป็นต่างด้าวจริง

แต่ปัญหาคือ สธ.ยังไม่ยอมรับให้ 95,071 คนนี้ไปอยู่ในกองทุนคืนสิทธิฯ ดังกล่าว

และเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนยังคงคละคลุ้งอยู่ในบรรยากาศของการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อมีการถกเถียงในเรื่องปัญหาการถอนสิทธิ์กลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิออกจากกลุ่มผู้มีสิทธิในบัตรทอง

นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุในที่ประชุมว่าสปสช.ได้ถอดสิทธิกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิออกจากบัตรทองจำนวน 2 แสนคนตั้งแต่ 3 ธ.ค. 2556 ในจำนวนนี้มี 90,000 กว่าคนมีทะเบียนซ้ำ อีกกว่า 100,000 คนอาจเป็นผู้ไร้สถานะหรือต่างด้าว ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจถูกรวมเข้าในรายชื่อผู้มีสิทธิบัตรทองด้วยความผิดพลาด พร้อมเสนอว่าสธ.จะให้การรักษาแก่บุคคลกลุ่มนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ปัญหา อาจให้กลุ่มคนเหล่านี้ซื้อบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวราคา 2,800 บาท/ปี

ในขณะที่ข้อมูลของสปสช.ระบุว่ามีจำนวนผู้ถูกถอดสิทธิอยู่ที่ 95,071 คนเท่านั้น ไม่ใช่ 200,000 คนอย่างที่สธ.ระบุ ทางสปสช.ชี้แจงว่ามีการทักท้วงจากสำนักงบประมาณถึงสถานะของคนเหล่านี้ว่าอาจไม่เข้าข่ายอยู่ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งให้สิทธิบัตรทองแก่ผู้มีเลขประจำตัวคนไทย 13 หลัก สปสช.ยืนยันว่าได้มีการแจ้งไปยังสธ.อย่างเป็นทางการและขอให้สธ.รับผู้ถูกถอดสิทธิบัตรทองเข้ากองทุนคืนสิทธิฯ ซึ่งครม.มีมติในปี 2553 ให้ตั้งกองทุนคืนสิทธิฯแก่ผู้มีปัญหาทางด้านสถานะและสิทธิจำนวนประมาณ 450,000 คน

ในปีล่าสุด สธ.ได้รับงบประมาณสำหรับกองทุนคืนสิทธิฯที่ 973 ล้านบาท ระบุว่ามีผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิจำนวน 500,000 คนอยู่ในความดูแลของกองทุน ซึ่งหลายหน่วยงานคาดว่า สธ.อาจจะมีจำนวนที่นั่งเหลือสำหรับผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ เนื่องจากมีคนในกองทุนคืนสิทธิฯถูกโอนถ่ายไปในความดูแลของสปสช.ประมาณปีละ 80,000 คน เนื่องจากได้รับสัญชาติไทย

อย่างไรก็ตาม นพ.ทรงยศมิได้มีการกล่าวถึงการพิจารณารับกลุ่มคนที่ถูกถอดสิทธิเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิฯ ทั้งที่สิทธิการรักษาพยาบาลในกองทุนคืนสิทธิฯไม่มีความแตกต่างจากสิทธิในบัตรทองมากนัก โดยยืนยันว่าไม่มีปัญหาใดๆ เพราะแจ้งให้ทุกรพ.ในสังกัดให้รักษาต่อเนื่องตามหลักมนุษยธรรมแล้ว แม้จะยังมีปัญหาเรื่องสิทธิการรักษาซึ่งส่งผลถึงการเบิกจ่ายของรพ.ก็ตาม

“นี่เป็นเรื่องของสธ.” นพ.ทรงยศกล่าวเมื่อผู้ร่วมประชุมแสดงถึงข้อสงสัยต่างๆ และกล่าวว่าสธ.กำลังพิจารณาของบประมาณเพิ่มเพื่อมาดูแลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิจำนวน 200,000 คน

แน่นอนว่าว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ ความไม่สอดคล้องของข้อมูลจากทั้งสองหน่วยงานมีการพูดถึงแล้วในการประชุมบอร์ดสปสช. สองครั้งก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. และเม.ย. แต่ทุกครั้ง วาระเรื่องนี้ต้องถูกถอดออกเพราะข้อมูลไม่เพียงพอแก่การตัดสินใจของคณะกรรมการ ยังไม่มีทางออกและมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนให้แก่ผู้ถูกถอดสิทธิได้

ครั้งนี้ก็เช่นกัน นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ขอให้สธ. เสนอรายละเอียดที่ชัดเจนในการประชุมบอร์ดสปสช.ครั้งหน้า คือ เดือนมิถุนายน ซึ่งจะมีการนำวาระนี้กลับเข้ามาพิจารณาใหม่ เช่น ข้อมูลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิในกองทุนคืนสิทธิฯ ตัวเลขบุคคลที่เป็นคนไร้สถานะ หรือต่างด้าว และการดำเนินการที่ชัดเจน

ทั้งนี้กลุ่มคนไร้สถานะกว่า 9 หมื่นคนนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนอายุกว่า 70 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกกันว่า อากง อาม่า ที่เข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่เด็ก หรือเกิดในไทย แต่พ่อแม่เป็นคนต่างด้าว ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน อายุมากแล้ว และมีโรคเรื้อรัง การถอดสิทธิไปให้อยู่ในความดูแลของสธ. อาจมีปัญหาความต่อเนื่องเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่ความผิดของประชาชน แต่ติดปัญหาขั้นตอนการเป็นสัญชาติไทย ทั้งยังอาจส่งผลต่อสถานะทางการเงินการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะไม่มีปัญหา และยื้อกันมานานกว่า 4 เดือนเช่นนี้ หากทั้ง สธ. และสปสช. มำฐานข้อมูลให้ตรงกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็น่าแปลกใจว่าทำไมจนทุกวันนี้ยังปรับฐานข้อมูลให้ตรงกัน และรับคนกลุ่มนี้เข้าไปไม่ได้ 

หากทั้งสองหน่วยงานยังไม่มีการแก้ไขปัญหาเร็วนี้ๆ รวมทั้งสื่อสารไปสู่กลุ่มผู้ถูกถอดสิทธิบัตรทองให้ทราบถึงทางเลือกอื่น อาจนำมาสู่การสร้างเงื่อนไขให้อาการป่วยไข้ของพวกเขาทรุดหนักลง เพียงเพราะความชักช้าในการทำงานของผู้มีอำนาจตัดสินใจ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง