ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้เรื่องทันตกรรมหรือ "ฟัน" จะดูไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในระบบสาธารณสุขของไทย แต่กลับส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

คุณรู้หรือไม่ว่าปัญหาสุขภาพปากและฟันอาจนำไปสู่โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด และโรคร้ายอื่นๆ และอาจส่งผลกระทบต่อเรื่องภาวะโภชนาการ การเคี้ยวอาหาร การรับรสชาติ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพและการเจริญเติบโต ฯลฯ

เหตุนี้ เรื่องของฟันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เริ่มตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ อย่างฟันผุ ไปจนถึงปัญหาใหญ่ๆ จากการสูญเสียฟัน รวมทั้งการปล่อยให้ปากและฟันมีปัญหาซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้

ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พูดถึงภาพรวมด้านทันตกรรมของไทยว่า การให้บริการทางทันตกรรมแบ่งเป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟู  เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ คือเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพิ่มศักยภาพประชาชนในการแปรงฟัน เรียนรู้การกิน และการทำความสะอาด ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก โดยพยายามให้ครอบคลุมในทุกช่วงวัย จะเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้านโดย อสม. จนถึงส่วนกลาง

สำหรับการป้องกันจะเน้นในเด็กเป็นส่วนใหญ่ เช่น ฟลูออไรด์วานิช หรือการทำเคลือบหลุมร่องฟันในนักเรียน ป.1 และทุกกลุ่มอายุจะมีการตรวจคัดกรอง ถ้าเสี่ยงจะพยายามใช้ฟลูออไรด์วานิชทา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีปัญหามาก  ในเรื่องของฟันผุและรากฟันผุ ส่วนการรักษาสามารถทำได้โดยทันตภิบาล ถ้ายากขึ้นต้องใช้ทันตแพทย์ และทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญหากเป็นโรคที่ซับซ้อน โดยจะมีตั้งแต่สาขาทันตกรรมบูรณะ/การอุดฟัน ครอบฟัน หรือการรักษาคลองรากฟัน  ใส่ฟัน และจัดฟัน ฯลฯ ซึ่งมาตรฐานของเราทัดเทียมอเมริกากับยุโรป

อย่างไรก็ตามจากสถิติพบว่ามีประชาชนเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่เข้าถึงบริการทางทันตกรรม ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันมีทันตแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 12,000 คน อยู่ในภาครัฐร้อยละ 50 และภาคเอกชนร้อยละ 50 ภาพรวมของประเทศมีทันตแพทย์ 1 : 5,533 คน ที่สำคัญมีการกระจายตัวในกรุงเทพฯ มากเป็นพิเศษ เฉลี่ย 1 : 1,039 คน ส่วนภูมิภาค 1 : 9,500 คน และภาคอีสานน้อยที่สุดเพียง     1 : 14,000 คน   "การทำงานเชิงรุกของ สธ. หลักๆ คือเราพยายามทำอย่างไรให้คนรู้การแปรงฟัน ไม่กินหวาน กินเป็นมื้อมากขึ้น กินผลไม้แทนขนมหวาน ไม่ดื่มน้ำอัดลม รู้วิธีแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน หรือผู้สูงอายุก็ต้องรู้วิธีการแปรงซอกฟันด้วย ในแง่การป้องกัน คือ เราไปเคลือบหลุมร่องฟันเด็ก ป. 1 โดยคนที่เสี่ยงฟันผุในระยะต้นๆ จะมีรอยขาวๆ  ถ้าเราเอาฟลูออไรด์วานิชไปป้าย 3 เดือน / 6 เดือนครั้ง จากฝ้าขาวๆ ก็จะกลับมาเป็นปกติ ฟลูออไรด์วานิชจะทำในผู้สูงอายุได้ด้วย ในกรณีเหงือกร่น รากฟันมีความเสี่ยง

นอกจากนี้ เรายังพยายามทำให้เครือข่ายเข้มแข็ง เช่น การถ่ายทอดความรู้สู่ผู้สูงอายุ การรณรงค์ให้เด็กไม่กินขนม ห้ามนำขนมหรือขวดนมเข้าศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น" สำหรับอันตรายต่อฟันหลักๆ นั้นมาจากอาหาร โดยเฉพาะขนมหวาน รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า เมื่อเรา กินอาหารทุกครั้งจะมีการย่อยสลายทำให้น้ำตาลกลายเป็นกรด ปกติน้ำลายจะมีค่า PH อยู่ที่  6.7 - 7  เมื่อทานอาหารจะมีค่า PH เป็นกรดคือประมาณ 4-5 ทั้งนี้ น้ำลายจะมีบัฟเฟอร์เป็นตัวปรับสมดุลทำให้น้ำลายกลับมาที่ค่าเดิม อย่างไรก็ตาม หากใน 1 วันเรากินอาหารบ่อยครั้งก็จะทำให้น้ำลายเป็นกรดตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้แคลเซียมไหลออกมาที่น้ำลาย การปรับสมดุลคือแคลเซียมจะไหลกลับไปที่ตัวฟัน หากไหลออกและไหลเข้าเท่ากันฟันก็จะไม่ผุ แต่ถ้าเป็นกรดบ่อยๆ ก็จะไหลออกฟันก็จะผุได้ เหตุนี้เราจึงแนะนำในเรื่อง 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์  2 ส. คือ สุรา สูบบุหรี่ และ 1 ฟ. คือ การแปรงฟัน ซึ่งจะทำให้สุขภาพดีอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ที่ไม่ค่อยได้ผลก็คือพฤติกรรม ซึ่งไม่สามารถสู้การโฆษณาในสื่อต่างๆ เช่น โฆษณาขนม น้ำอัดลม ซึ่งเด็กก็จะมาขอ พ่อแม่ก็ไม่รู้เท่าทัน นอกจากนี้ ยังไม่ใส่ใจสุขภาพปากและฟันของเด็กอีก ก็ยิ่งทำให้แย่ลง ผู้ปกครองต้องมีการฝึกตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่ยังใม่มีฟัน คือเช็ดด้วยสำลี พอมีฟันก็แปรงด้วยแปรงสีฟันที่ขนนุ่มมากๆ เพื่อไม่ให้เขาเจ็บ ถ้าเขาเจ็บเขาจะไม่อยากแปรงฟันทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

"สำหรับการแปรงฟันควรแปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที หลัง 2 ชม. ไปแล้วถ้าไม่ทานอะไรได้ยิ่งดี  การแปรงต้องเน้นไปที่คอฟัน ฟันแต่ละซี่ก็จะไม่เหมือนกัน คือถ้าฟันเรียงปกติก็จะแปรงง่าย บางคนฟันเก ฟันหลบมุมก็แปรงไม่ถึงก็จะผุหรืออักเสบได้ง่าย ส่วนแปรงสีฟันทุกยี่ห้อไม่ต่างกันหากมีขนอ่อนนุ่มจับถนัดสามารถจับแล้วเข้าได้ทุกมุม ยาสีฟันขอให้มีส่วนผสมฟลูออไรด์ นอกจากนี้ ยังควรใช้ไหมขัดฟันเพราะมีประสิทธิผลมากเนื่องจากมันเข้าไปขจัดเชื้อโรคได้ถึงซอกฟัน ช่วยลดการเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ แต่ที่เราสำรวจพบว่ามีการใช้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น และถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่เหงือกร่นมากๆ ก็อาจจะใช้แปรงซอกฟันเพิ่มขึ้น"

ทุกช่วงวัยหากละเลยอาจทำให้โรคในช่องปากเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด เนื่องจากช่องปากจะมีเส้นเลือดตามเหงือกหรือขากรรไกร ฟันทุกซี่ในโพรงประสาทฟันจะมีเส้นเลือดและเส้นประสาทเข้าไปตามรากฟัน เมื่ออักเสบทำให้มีเชื้อโรค ซึ่งอาจจะวิ่งเข้าไปในเส้นเลือดแล้วนำไปสู่การติดเชื้อ เช่น ที่ลิ้นหัวใจทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบหรือทำให้หลอดเลือดหนาตัวขึ้นเมื่อหนามากขึ้นก็จะตีบ ถ้าเชื้อที่ไปทำให้ตีบหลุดแล้ววิ่งไปที่สมองก็จะตีบที่สมองทำให้เป็นอัมพาตได้ อันนี้คือโรคในช่องปากไปทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เช่นกัน

"ผมอยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของสุขภาพปากและฟัน เพราะอย่างที่ญี่ปุ่นก็ได้กำหนดให้ทันตสุขภาพเป็น 1 ใน 8  นโยบายสาธารณสุข เรียกว่าเป็น Healthy Japan 2020 เพราะเขาไปพบว่าสาเหตุหลักๆ ของการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ มาจากปอดบวม และนิวโมเนีย โดยมีต้นเหตุมาจากการสำลักอาหาร เพราะเมื่อเรามีอายุมากขึ้นทานอาหารจะสำลักน้ำได้ง่าย น้ำลายแห้ง เมื่อช่องปากสกปรก เชื้อก็เข้าไปในปอดทำให้ปอดบวมและเป็นสาเหตุการตายของผู้สูงอายุ จะช่วยลดการตายของผู้สูงอายุได้ต้องไปแก้เรื่องปอดบวม จะแก้ปอดบวมได้ต้องไปแก้เรื่องช่องปาก ซึ่งในเมืองไทยก็มีไม่น้อย" ทพ.สุธา กล่าวในตอนท้าย