ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีดีอาร์ไอชี้ สปส.เดินผิดทาง ยิ่งเพิ่มสิทธิ์รักษาพยาบาล ยิ่งทำกองทุนติดลบ อีก 30 ปี ไม่มีเงินจ่ายชราภาพ แนะให้สปสช.ดูแลเรื่องรักษาพยาบาลแทน ส่วนสปส.เพิ่มสิทธิด้านสวัสดิการสังคมอื่นๆแทน เผยผู้ประกันตนไม่ไว้ใจสปส. เหตุไม่เปิดเผยรายละเอียดงบบริหารงาน แจงในแต่ละปีสามารถใช้งบประมาณถึง 10% ของกองทุนแสนล้านบาทมาบริหารจัดการได้ เท่ากับมีงบบริหารจัดการปีละหมื่นล้านบาท แม้ใช้ไม่ถึงแต่ก็ยังสูงกว่างบบริหารจัดการของทุกกองทุนและสูงกว่าภาคเอกชน ทำให้ผู้ประกันตนไม่ไว้ใจ การอนุมัติก็ทำโดยบอร์ดสปส.มี 15 คน ผู้ประกันตนไม่มีส่วนร่วม

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์

ในอีก 30 ปีข้างหน้า เผยผู้ประกันตนไม่ไว้ใจสปส. ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ว่า เงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม(สปส.) จะขาดสภาพคล่องในการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในอีก 30 ปีข้างหน้าว่า ปัจจุบันเงินกองทุนประกันสังคมนั้นถูกแยกออกเป็น 3 บัญชีคือ สิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ด้านการว่างงาน และด้านชราภาพและคลอดบุตร ซึ่งเก็บเงินสมทบ 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลอุดหนุนสูงสุดที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเพิ่มเพดานวงเงินการอุดหนุนเลยยังคงอยู่ที่ 15,000 บาท เท่าเดิม ซึ่งจากสภาพเศรษฐกิจเมื่อก่อน เงินที่เก็บเข้ามาก็เพียงพอต่อการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของกองทุน แต่ปัจจุบันจำนวนเงินที่ต้องใช้ไปกับการรักษาพยาบาลก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เงินกองทุนประกันสังคมไม่เพียงพอ ดังนั้นการที่สปส.เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านการรักษาโดยที่ไม่คำนึงถึงรายรับที่มีเข้ามาว่าไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในที่สุดเงินกองทุนด้านการรักษาพยาบาลก็จะไม่พอ ที่สำคัญเงินกองทุนทั้ง 3 ของกองทุนประกันสังคมนั้นสามารถโยกย้ายเงินระหว่างบัญชีกองทุนได้ หากเงินกองทุนใดไม่เพียงพอก็สามารถดึงอีกกองทุนมาใช้ได้ ซึ่งเงินกองทุนชราภาพคาดการณ์ว่าจะมีปัญหาในอนาคตสามารถใช้ได้เพียง 30 ปี แต่หากถูกดึงเงินไปใช้ในส่วนอื่นก็อาจไม่สามารถอยู่ได้ตามที่คาดการณ์

เมื่อถามว่าหากมีแนวทางในการแก้ปัญหาโดยการเก็บเงินผู้ประกันตนเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่ม ดร.วรวรรณ ตอบว่า เรื่องนี้ผู้ประกันตนน่าจะยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพราะผู้ประกันตนทราบว่าเมื่อจ่ายเงินเพิ่มก็จะได้รับประโยชน์เพิ่ม แต่ปัญหาคือ ที่ผ่านมาผู้ประกันตนไม่เคยไว้ใจประกันสังคม เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ว่าสปส.นำเงินไปทำอะไรบ้างก็ไม่เคยบอกกับผู้ประกันตน มติกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.)ที่ใช้เงินประกันสังคมก้อนใหญ่นำไปจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกันตนก็ไม่เคยทราบ ฉะนั้นความไว้วางใจที่มีต่อสปส.ก็ต่ำ ดังนั้นหากเมื่อไหร่บอกว่าจะเก็บเงินเพิ่ม ผู้ประกันตนก็จะมีความรู้สึกว่าไม่อยากจะจ่ายให้

“สปส.ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกันตนทราบว่าเมื่อจ่ายเงินเพิ่มแล้วจะได้รับประโยชน์ เพราะการจ่ายเงินเข้ากองทุนสปส.เป็นภาษีชนิดหนึ่ง เมื่อเราเสียภาษีอื่นๆ ไปเราไม่รู้ว่ารัฐบาลนำไปทำอะไรบ้าง แต่เรารู้ว่ารัฐบาลนำมาสร้างถนนแล้วทุกคนสามารถใช้ได้ แต่การจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้เสมือนกันภาษีเฉพาะบุคคล คนที่จ่ายก็คาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์ แต่นี่เกิดความไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะได้ใช้หรือไม่ แต่สปส.มีปัญหาทั้งการบริหารจัดการ ทั้งสภาพคล่อง ซึ่งก็ต้องกระทบต่อผู้ประกันตน ดังนั้นเมื่อจะเก็บเงินเพิ่มก็จะเกิดการต่อต้าน ดังนั้นจึงคิดว่ายากที่จะเก็บเงินเพิ่ม” ดร.วรวรรณ กล่าว

ดร.วรวรรณ กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ตามกฎหมายนั้นสปส.สามารถจัดสรรเงินจากเงินสมทบที่เก็บจากผู้ประกันตนถึงร้อยละ 10 ในแต่ละปี เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ อย่าง 1 ปี เก็บเงินสมทบได้ 100,000 ล้านบาท สปส.สามารถจัดสรรเงินมาใช้ได้ถึง 10,000 ล้านบาท แม้ว่าจะใช้ไม่เต็มที่ แต่ตอนนี้งบประมาณในการบริหารงานของประกันสังคมสูงกว่ากองทุนภาคเอกชนและสูงกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ผู้ประกันตนไม่เคยทราบรายละเอียดในการบริหารงานเลย การอนุมัติเงินในการบริหารอนุมัติโดยคนเพียง 15 คน ซึ่งผู้ประกันตนไม่เคยรับรู้เลย ประชาชนเกิดความสงสัยว่าอย่างการไปดูงานต่างประเทศนั้น กรรมมาธิการเดินทางไปปีละหลายชุดแล้วจากการไปดูงานนั้นนำข้อมูล กลับมาพัฒนาระบบประกันสังคมอย่างไรบ้าง

ส่วนกรณีการโอนกองทุนรักษาพยาบาลไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นั้น ดร.วรวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปได้ ในเมื่อเป็นสิทธิในเรื่องของการรักษาพยาบาล หากสิทธิด้านพื้นฐานของสปสช.ซึ่งรัฐสนับสนุนขยายไปถึงลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยที่รัฐเปลี่ยนเป็นสนับสนุนเงินผ่านสปสช. ส่วนสปส.นั้นก็เป็นการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินเช้ากองทุนประกันสังคม ดังนั้นสิทธิพื้นฐานของทุกคนก็ให้ไปอยู่ในสปสช.ส่วนสิทธิพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาจากพื้นฐานก็ให้ไปอยู่ในสปส. และต้องคำนวณไปถึงกรณีคลอดบุตร ชราภาพด้วยว่าจะสามารถให้สิทธิประโยชน์พิเศษได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้กระทบต่อด้านอื่นๆ

“การโอนเข้ามาอยู่ในระบบสปสช.น่าจะดีต่อทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาว่าเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาก็ต้องเช็คก่อนว่าอยู่ในกองทุนอะไร ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านการรักษาพยาบาล แต่หากมีสิทธิเดียวที่เท่าเทียมกันหมดก็จะเกิดความเท่าเทียม เพราะการรักษาเป็นสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการรักษาแบบเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องรวมกองทุน และภาครัฐก็เปลี่ยนการอุดหนุนเป็นให้สปสช.แทน” ดร.วรวรรณกล่าว