ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้ (20 มิถุนายน 2557) ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมการพัฒนาบุคลากรเพื่อการช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองภายใต้โครงการรวมใจปรองดองสมานฉันท์ เพื่อชี้แจงการดำเนินงานช่วยเหลือ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพจิตและสาธารณสุขในการปฏิบัติงาน โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล/สถาบัน/ศูนย์สุขภาพจิต ผู้รับผิดชอบงานวิกฤตโรงพยาบาล/สถาบัน/ศูนย์สุขภาพจิต ในสังกัดกรมสุขภาพจิต และผู้รับผิดชอบงานวิกฤตระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 300 คนร่วมประชุม

นายแพทย์วชิระให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเกิดปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองจากความคิดเห็นที่แตกต่างมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 - พฤษภาคม 2557 เป็นเวลากว่า 9 เดือน ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และบาดเจ็บรวม 862 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บ 834 ราย ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 5 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเครียด ตื่นตระหนก วิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่มีความสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ทั้งสุขภาพกายและจิต และจัดโครงการร่วมใจปรองดองสมานฉันท์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในกลุ่มคนที่คิดต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สร้างความหวังในการสร้างชุมชนและสังคมร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับ แนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ต้องการคืนความสุขให้คนในชาติ

นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตเป็นแกนหลักในการดำเนินการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งติดตามดูแลจิตใจอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับผลกระทบทางจิตใจ โดยมีทีมให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ซึ่งจัดตั้งถึงระดับอำเภอทั้งสิ้น 853 ทีมทั่วประเทศ ให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้พิการ ผู้สูญเสีย รวมถึงญาติและผู้ถูกคุมขัง ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1,000 ครอบครัว 2.กลุ่มผู้อยู่ในสถานการณ์ เช่น ผู้ร่วมชุมนุม 3.กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เช่น ผู้เข้าไปช่วยเหลือ

4.กลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งจะให้การดูแล เยี่ยมบ้าน อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และชุมชน สนับสนุนการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ การจัดเวทีในระดับพื้นที่ และพัฒนาองค์ความรู้และเผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิตจะมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังอุณหภูมิทางการเมือง ภายใต้โครงการรวมใจปรองดองสมานฉันท์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะอุณหภูมิทางการเมืองและความสุขของชุมชนในระยะยาว โดยจะสำรวจระดับอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนเดือนละ 1 ครั้ง

ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้กำหนดมาตรการ เยียวยาจิตใจประชาชน 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน เน้นการเยียวยาด้านสังคมจิตใจ ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ได้รับบาดเจ็บ พิการ ครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือถูกคุมขัง และส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตซับซ้อนไปรับการรักษา โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศและชุมชนร่วมดูแล 2.ระยะกลาง เน้นการสื่อสารฟื้นฟูและเยียวยาสังคม โดยตั้งศูนย์เฝ้าระวังอารมณ์และความเครียดทางการเมือง ใช้การสำรวจลงพื้นที่และโทรศัพท์ เสริมศักยภาพด้านการเยียวยาจิตใจแก่สื่อมวลชนด้วย มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน สังคมและประเทศ 3.ระยะยาว เน้นเสริมพลังชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการอยู่ร่วมกัน นับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะนำไปสู่ความรู้สึกความมั่นคงปลอดภัย เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มในชุมชน รู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมอย่างมีความหวัง ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยมีความสงบและประชาชนมีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถปรึกษาปัญหาข้อขัดแย้ง ได้ที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง