ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย. เผยผลการตรวจสอบเครื่องสำอาง คิวเฟชส์ ไม่มีเลขจดแจ้ง และพบสถานที่ผลิตไม่เป็นความจริง เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อมาใช้ หลัง อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คิวเฟชส์ ที่ไม่มีเลขจดแจ้งบนฉลากแต่แสดงเลขเครื่องสำอางควบคุม ฉผส. 114/2540 ผลิตและจำหน่ายโดยบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีจึงเร่งประสาน สสจ.ปทุมธานี ตรวจสอบสถานที่ผลิตและจัดจำหน่ายที่ระบุบนฉลาก ปรากฏเป็นเพียงที่อยู่อาศัย ไม่เคยมีการผลิตเครื่องสำอาง จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้ซื้อเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า คิวเฟชส์ดังกล่าวเป็นอันขาด เพราะไม่น่าเชื่อถือ ไม่ขออนุญาตจดแจ้งกับ อย. หากเกิดความผิดปกติหรือเกิดผลข้างเคียงกับร่างกายหลังการใช้งาน จะไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในฐานะโฆษกอย. เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งเฝ้าระวังและตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายมาโดยตลอดนั้น ล่าสุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอางมาจำหน่ายเครื่องสำอาง ตรา “ คิวเฟชส์ ” ซึ่งฉลากได้ระบุเลขเครื่องสำอางควบคุม ฉผส. 114/2540 ผลิตและจัดจำหน่ายโดย เลขที่ 54/64 หมู่ 1 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ใต้กล่องระบุ Product of Thailand 9857742255739 วันที่ผลิต 17/04/13 และไม่มีเลขจดแจ้ง ผู้บริโภคจึงร้องเรียนผ่านทาง สายด่วน อย. 1556 เพื่อให้ อย. ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ซึ่งหลังจากอย. ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว จึงได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี (สสจ.ปทุมธานี)ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่ระบุบนฉลากว่าเป็นสถานที่ผลิต เพื่อขอให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบของ สสจ. พบสถานที่ดังกล่าวเป็นเพียงที่อยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งเจ้าของบ้านยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เคยมีการผลิตเครื่องสำอางเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ดังนั้นเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวจึงจัดเป็นเครื่องสำอางปลอม เนื่องจากไม่มีการจดแจ้งกับ อย. และสถานที่ผลิตไม่ตรงตามที่แจ้งในฉลาก ผู้ผลิตและผู้ขายจะมีความผิดต้องโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการ ฯ กล่าวแนะนำหลักในการเลือกซื้อเครื่องสำอางว่า ผู้บริโภคจะต้องตรวจสอบเครื่องสำอางก่อนที่จะซื้อ ว่าเครื่องสำอางที่จะซื้อจดแจ้งแล้วหรือยัง เลขที่ใบรับแจ้งที่ฉลากจะช่วยให้ผู้บริโภคตรวจสอบว่าเครื่องสำอางนั้นได้มาจดแจ้งต่อ อย. หรือไม่ โดยสืบค้นจาก เว็บไซต์ อย.www.fda.moph.go.th หรือทาง Oryor Smart Application ซึ่งสามารถใช้ smart phone ดาวน์โหลดได้ฟรี หากมีในฐานข้อมูลเครื่องสำอาง จะปรากฏออกมา และต้องดูว่าตรงกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะซื้อหรือไม่ ถ้าตรงกันจึงค่อยซื้อ ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เชื่อถือได้ และขอใบเสร็จที่มีหัวบิลล์ทุกครั้ง เพราะหากเกิดปัญหาสามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้

นอกจากนี้ควรซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย โดยระบุข้อความที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ชัดเจนเช่น ชื่อและชนิดของเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า เป็นต้น อีกทั้งควรเลือกเครื่องสำอางที่ หีบห่อภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดีไม่แตกรั่ว และมีการเก็บรักษาอย่างดี ไม่อยู่ในที่ร้อนชื้นหรือโดนแสงแดด ทั้งนี้ อย่าหลงเชื่อคำ โฆษณาเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น มีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย อ้างว่าช่วยทำให้ผอมเพรียว ช่วยขยายทรวงอกให้อวบอิ่ม รักษาสิว อักเสบ รักษาฝ้า

การเลือกซื้อเครื่องสำอางทางอินเทอร์เน็ตจะมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์มากกว่าร้านที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง เนื่องจากขณะซื้อผู้ซื้อยังไม่ทราบข้อมูลบนฉลาก ต่อเมื่อได้รับสินค้าแล้วจึงจะสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้การหลงเชื่อข้อความโฆษณาโดยไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ จะทำให้ได้รับเครื่องสำอางที่อาจไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างก็ได้ และเมื่อซื้อหรือสั่งซื้อมาใช้แล้วมีปัญหาการใช้ จะติดตามหาผู้รับผิดชอบได้ยาก

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเครื่องสำอางผิดกฎหมาย หรือได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ขอให้ร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย.จะได้ดำเนินการการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดต่อไป