ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลกในขณะนี้ กำลังเผชิญวิกฤติการณ์จากการระบาดของโรคติดต่อที่ร้ายแรงอาทิเช่น  ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อีโบลา และหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางได้เผชิญกับโรคติดต่อที่เรียกกันว่า เมอร์ส  ปรากฏการณ์ระบาดของโรคติดต่อที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายนั้น ในอดีต พบว่า มีโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ ที่เคยระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเช่นกัน และบางชนิดยังพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน

โรคระบาดที่ทำให้คนล้มตายคราวละมากๆ คนสมัยก่อนเรียกกันว่า “โรคห่าซึ่งในอดีตไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร แม้ว่าภายหลังจะเชื่อว่าเป็นโรคอหิวาตโรคก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติสำหรับโรคระบาด พ.ศ. 2456 ระบุไว้ 3 โรค คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษหรือฝีดาษ โดยจะขอนำเสนอที่ละโรค ดังนี้

กาฬโรค

กาฬโรค หรือ มรณะดำ หรือ “The Black Death” เป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดชนิดไม่มีโรคใดเทียบติด มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เยอร์ซิเนีย เปสติส (Yersinia pestis) โดยมีสัตว์ฟันแทะและหมัดเป็นพาหะนำโรค รวมถึงสามารถแพร่ในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือโดยอาหารหรือวัสดุที่ปนเปื้อน ในอดีตมีการระบาดใหญ่ของกาฬโรคเกิดขึ้น 3 ครั้ง ได้แก่

ช่วงที่ 1 ยุคกลางตอนต้น ในสมัยจักรวรรดิโรมันตะวันออก คริสตวรรษที่ 6 ในระหว่างปี ค.ศ. 541-542 เป็นการระบาดที่เรียกกันว่า “กาฬโรคแห่งจัสติเนียน(Plague of Justinian) คาดกันว่ากาฬโรคซึ่งมีต้นกำเนิดในจีน แพร่กระจายสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์ กอปรกับนครแห่งนี้มีหนูและหมัดเป็นจำนวนมากจึงระบาดอย่างรวดเร็ว ช่วงที่กาฬโรคระบาดถึงขีดสุด ชาวคอนสแตนติโนเปิลต้องเสียชีวิตอย่างน้อยวันละ 10,000 คน และสุดท้ายต้องเสียประชากรไปกว่า 40% ต่อมามันแพร่เข้าสู่เมดิเตอร์เรเนียนในปี ค.ศ. 588 ในดินแดนที่ปัจจุบันคือฝรั่งเศส นักวิจัยประเมินว่า กาฬโรคแห่งจัสติเนียน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน จำนวนประชากรในยุโรปลดลงกว่า 50% ในช่วง ค.ศ. 541-700

ช่วงที่ 2 ในคริสตวรรษที่ 14 -19 คนในสมัยคริสตศตวรรษที่ 14 เรียกการระบาดนี้ว่า “Great Pestilence (โรคระบาดครั้งใหญ่) หรือ “Great Plague (กาฬโรคครั้งใหญ่) ซึ่งเริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและประเทศจีนระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม (Silk Road) กระจายไปทั่วเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกา ในยุโรปเกิดการระบาดในช่วงปลายทศวรรษ 1340 สันนิษฐานว่า พ่อค้าชาวจีน-มองโกล ได้เป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ในยุโรป  ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในยุโรปอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ที่อิตาลีมีการระบาดในช่วง ค.ศ. 1338 – 1351 ทำให้ประชากร 2 ใน 3 ของประเทศเสียชีวิต เรียกว่า “Great Mortality และในค.ศ. 1400 เกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอนเรียกว่า “The Great Plague of London   มีคนตายถึง 70% จากจำนวนประชากร 450,000 คน เหลือเพียง 60,000 คน การแพร่ระบาดต่อเนื่องมาจนถึงคริสตศตวรรษที่ 17 เรียกกันว่า แบล็กเดธ (Black Death) การระบาดในยุโรปในช่วงนี้มีประชากรตายประมาณ 25 ล้านคน

ช่วงที่ 3  ศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งสุดท้าย เริ่มขึ้นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในปี ค.ศ. 1855  มีการแพร่ระบาดไปทั่วทุกทวีปของโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค จนในค.ศ. 1894  Alexandre Emile Jean Yersin แพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบเชื้อก่อโรคคือ เชื้อแบคทีเรีย Baicllus pestis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ฟันแทะและหมัด  ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ 3 รูปแบบ คือ กาฬโรคปอด (peneumonic) กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic) และกาฬโรคเลือด (septicemic) ซึ่งกาฬโรคทั้ง 3 ชนิดนี้ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 5 - 6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ  การติดต่อมาสู่คนเกิดขึ้นได้ 3 ทาง ได้แก่ การถูกหมัดที่มีเชื้อกัด การสัมผัสเนื้อเยื่อ ของสัตว์ที่ติดเชื้อ และการสูดดมสัมผัสสารคัดหลั่งจาก ทางเดินหายใจของสัตว์ที่ติดเชื้อ ได้มีการตั้งชื่อเชื้อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบว่า Yersinia หลังจากค้นพบแบคทีเรีย Yersinia pestis นำไปสู่การคิดวิธีรักษากาฬโรค มีการพัฒนาและทดลองใช้วัคซีนต้านเชื้อกาฬโรคในต่อมน้ำเหลืองเป็นครั้งแรกในปี 1897  ปัจจุบันนี้กาฬโรคสามารถรักษาหายได้หากตรวจพบเร็ว โดยใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ  ปัจจุบันไม่คอยพบการระบาดของโรคนี้ จนในเดือนกรกฏาคม- สิงหาคม พ.ศ. 2552 มีรายงานการระบาดของกาฬโรคที่เมืองจื่อเคอทัน มณฑลชิงไห ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน พบผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย ด้วยกาฬโรคปอด นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโรคนี้อีก 9 ราย สวนใหญ่เป็นญาติของผู้เสียชีวิตรายแรก

การระบาดของกาฬโรคในประเทศไทย

จากข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 ว่า ก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ถูกเนรเทศมาจากเมืองจีน ขึ้นสำเภามาลงที่เมืองปัตตานี แล้วย้ายอยู่ตามเมืองท่าชายทะเลต่างๆ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช กุยบุรี (ประจวบคีรีขันธ์) เพชรบุรี บางกอก แล้วมาปราบโรคระบาด สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.1893 ซึ่งตรงกับ ค.ศ.1350 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ของ Black Death ในยุโรป และจากข้อมูลการระบาดของกาฬโรคในจีนซึ่งร่วมสมัยกันอยู่ โรค 'ห่า' ที่พระเจ้าอู่ทองปราบได้ น่าจะเป็น กาฬโรค

ระยะต่อมา พบว่า กาฬโรคจากเมืองจีนยังได้มีการแพร่กระจายเข้ามาในไทยอีก ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ปรากฏในเอกสารเก่า (สำเนาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ร.ศ. 116 พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 ร.ศ.116)   เรื่องห้ามเรือจากซัวเถาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2440 ว่า

“กาฬโรค (คือโรคห่า) ได้เกิดขึ้นที่เมืองซัวเถานั้น……กำปั่นลำหนึ่งลำใดออกจากเมืองซัวเถาและจะเข้ามาในกรุงนี้ ต้องหยุดทอดสมอที่เกาะไผ่ในกำหนดเก้าวันเต็มแล้ว และถ้าแพทย์ได้ตรวจแจ้งว่ากาฬโรค……ไม่ได้มีและได้เกิดในเรือนั้นแล้ว จึงจะยอมให้กำปั่นลำนั้นเดินต่อไปจนถึงที่จอดในกรุงนี้ได้”

สำหรับรายงานการระบาดของกาฬโรคอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยนั้น นายแพทย์ เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ( Principal Medical Officer of Bangkok City) ได้รายงานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 ว่า พบการระบาดเกิดขึ้นที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้า ที่จังหวัดธนบุรี บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดีย สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากหนูที่มีเชื้อกาฬโรคติดมาจากเรือสินค้าที่มาจากเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย แล้วระบาดจากธนบุรีเข้ามาฝั่งพระนคร   จากนั้นกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับจังหวัดพระนคร โดยทางบก ทางเรือและทางรถไฟ แต่ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยตายที่แน่นอน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 มีรายงานว่าเกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย 300 คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 รายตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นรายงานการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในประเทศไทย จากนั้นไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยจนปัจจุบันนี้

 

เอกสารอ้างอิง

1.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ.วัคซีนป้องกันโรคกาฬโรค [Online], ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2557, จาก http://www.pidst.net/userfiles/9_%20วัคซีนป้องกันโรคกาฬโรค.pdf

2.กาฬโรค. ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค [Online], ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2557, จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=394

3.ตำนานการระบาดของกาฬโรคในยุโรปกลาง. [Online], ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2557, จาก http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=63296

4.กาฬโรค. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ - กรมปศุสัตว์. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2557. จาก ttp://niah.dld.go.th/th/AnimalDisease/zoonosis_Plague.htm

5.โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ ได้ราชอาณาจักรสยาม. [Online], ค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2557, จาก http://www.portfolios.net/forum/topics/2988839:Topic:706319#ixzz3A9MLR8qL