ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประวัติศาสตร์การระบาดของโรคร้ายแรงในสยาม (ตอนที่ 3) กำเนิดโรงพยาบาลโรคติดต่อ ปราการรับมือโรคระบาดในสยาม

การระบาดของอหิวาตกโรค ในรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2392 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2389-2405) โรคระบาดจากอินเดียไปทั่วยุโรป อเมริกา ระบาดเข้าสยามโดยผ่านทางปัตตานี สงขลา ประมาณ 3 สัปดาห์ก็ระบาดโดยทางเรือเข้าสมุทรปราการและกรุงเทพฯ ระบาดหนักอยู่ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ในรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรค มีการระบาดถึง 4 ครั้งคือ ครั้งแรก พ.ศ. 2416 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2406-18) การระบาดทั่วโลกเกิดจากชาวมุสลิมเดินทางกลับจากแสวงบุญที่เมืองเมกกะได้นำโรคมาระบาดยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2424 ตรงกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2424-2439) คาดว่าโรคระบาดมาจากเมกกะเช่นเดียวกัน ครั้งนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชอื่นรวม 48 คน ช่วยจัดตั้งโรงรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากในกรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่ 3 และ 4 เกิดขึ้นในพ.ศ. 2435 และปี พ.ศ. 2443 ไม่มีบันทึกไว้ในที่ใด

ในรัชกาลที่ 5 ได้เกิดการสร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลสามเสน และโรงพยาบาลโรคจิต แต่ยังไม่มีโรงพยาบาลที่รับรักษาโรคติดต่ออันตราย เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค และไข้ทรพิษโดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระราชดำริที่จะจัดหาที่สร้างโรงพยาบาลโรคติดต่อขึ้น โดยพบที่ดินบริเวณตำบลปากคลองสาน อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของคุณพระสัจจา บุตรเจ้าคุณทหาร เป็นตึกร้างมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ คุณพระสัจจาไม่อยู่เพราะไปราชการเป็นทูตต่างประเทศจึงได้ปล่อยเป็นตึกร้างไว้ และในที่สุดได้สร้างเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อขึ้น นับเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อแห่งแรกที่ได้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2448

แรกเริ่มอาคารที่สร้างขึ้นเป็นเรือนคนไข้ อาคารเป็นตัวเรือนไม้รวม 5 หลัง หลังหนึ่งบรรจุคนไข้ได้ประมาณ 20 คน และถ้าจำเป็นอาจรับได้ถึง 50 คน มีบ้านพักแพทย์ พยาบาล ห้องเก็บศพ ห้องครัว ต่อมาปีพ.ศ.2490 ได้รวมเรือนคนไข้ 5 หลัง เป็น 3 หลัง และพ.ศ.2493 ได้ต่อเติมห้องยา ห้องพยาธิวิทยาและห้องส้วมให้พอแก่สถานการณ์การรับคนไข้ในเวลาโรคระบาด

ในด้านการดำเนินงาน ช่วงแรกโรงพยาบาลโรคติดต่อขึ้นกับกรมพยาบาล กระทรวงนครบาล โดยมีนายแพทย์คาร์ทิว(พระยาอายุรเวทย์วิจักษณ์) เป็นผู้ดำเนินงาน ต่อมาในพ.ศ. 2465 ได้รวมกระทรวงนครบาลกับกระทรวงมหาดไทยทำให้เกิดการโอนย้ายมาสังกัดกรมสาธารณสุขในเวลาต่อมา และในปีพ.ศ. 2480 ได้โอนกิจการของโรงพยาบาลให้เทศบาลนครกรุงเทพดำเนินการ โดยขึ้นกับกองสาธารณสุขเทศบาลนครกรุงเทพ และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลเทศบาล” นับแต่นั้นมา

เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาล นายแพทย์คาร์ทิวซึ่งเป็นอธิบดีกรมแพทย์สุขาภิบาลในสมัยนั้นเป็นผู้ควบคุมดูแล และให้นายแพทย์ฝึกหัดจากโรงพยาบาลศิริราชผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นผู้อำนวยการ ปรากฎในรายงานของนายแพทย์คาร์ทิวว่า แพทย์คนแรกชื่อหมอมั่น ต่อมาใช้แพทย์ของกรมแพทย์สุขาภิบาลผลัดเปลี่ยนกันอยู่คนละ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง เพราะเหตุที่ก่อนพ.ศ. 2475 ไม่มีสะพานพุทธยอดฟ้าข้ามแม่น้ำ การไปมาไม่สะดวก แพทย์จึงต้องผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่ สำหรับผู้ป่วยก็ต้องส่งกันทางเรือจากกรมเจ้าท่ามาเข้าคลองสานส่งที่ท่าเรือโรงพยาบาลโรคติดต่อ ถ้าน้ำในคลองแห้งก็จะขึ้นที่สถานีตำรวจปากคลองสานแล้วจึงเดินทางมายังโรงพยาบาล

ไข้ทรพิษที่ระบาดอย่างรุนแรง ทำให้เด็กๆ เจ็บป่วยและล้มตายอย่างมากมาย

แรกตั้งโรงพยาบาลโรคติดต่อ มุ่งหวังจะรับผู้ป่วยด้วยโรคติดต่ออันตราย แต่กลับปรากฎว่ายามเกิดโรคระบาดทั้งอหิวาต์และไข้ทรพิษระบาดขึ้นในพระนครและธนบุรี โรงพยาบาลแห่งนี้ก็รับได้ไม่หมดประกอบกับการคมนาคมก่อนพ.ศ. 2475 ลำบากมาก เมื่อมีโรคระบาดขึ้นจึงจำเป็นต้องตั้งโรงพยาบาลพิเศษขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่วัดเทพศิรินทร์ วัดสุทัศน์ วังเสด็จในกรมขุนชัยนาทนเรนทร สุขศาลาบางรัก และในการระบาดของอหิวาตกโรคในพ.ศ. 2501 -2502 โรงพยาบาลต่างๆก็ยังคงช่วยรับผู้ป่วยอยู่ด้วย เพราะโรงพยาบาลโรคติดต่อบรรจุเต็มที่ได้เพียง 200 คนเท่านั้น

เตรียมน้ำเกลือรับมืออหิวาต์ระบาด เพราะผู้ป่วยอหิวาต์มักเสียชีวิตจากการที่ร่างกายเสียน้ำเพราะถ่ายท้องไม่หยุด 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ไม่มีโรคติดต่ออันตรายระบาด โรงพยาบาลแห่งนี้ก็รับผู้ป่วยด้วยโรคอุจระร่วงอย่างแรงเป็นประจำ หรือบางครั้งต้องรับผู้สัมผัสโรคหรือพาหะของโรคที่มาจากต่างประเทศมาคุมไว้สังเกต ดังเช่น ในพ.ศ. 2489 ได้กักผู้โดยสารที่ตรวจพบพาหะโรคมากับเรือจากประเทศจีนไว้ 95 คน เป็นต้น และด้วยข้อจำกัดของการรับผู้ป่วยในยามเกิดโรคระบาดหนักอย่างไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค ที่ระบาดในพ.ศ. 2487 ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการก่อสร้างโรงพยาบาลโรคติดต่อขึ้นแห่งใหม่ บริเวณถนนดินแดง ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เรียกว่า “โรงพยาบาลโรคติดต่อ พญาไท” เปิดดำเนินงานเมื่อ 29 กันยายน 2492 และต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลบำราศนราดูร”

เมื่อมีการระบาดของ โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) พ.ศ. 2555 หรือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)ในปัจจุบัน สถาบันบําราศนราดูรยังคงทำหน้าที่เป็นปราการรับมือโรคระบาดในประเทศไทย

เก็บความจาก

หนังสืออนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505, กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2505.

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.(2503). เอกสารที่ระลึกพิธีเปิดโรงพยาบาลบำราศนราดูร.สถาบันวิจัยจัดการความรู้ และมาตรฐานการควบคุมโรค (สวคร.).

ขอบคุณภาพจาก ๑๐๐ ปีการสาธารณสุขไทย (พ.ศ.2461 –2561)

ตอนที่ 1 ประวัติศาสตร์การระบาดของโรคร้ายแรงในสยาม กาฬโรคและอหิวาตกโรค

ตอนที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 5 สยามกักคนจีนบนเกาะร้าง 9 วัน ป้องกัน ‘กาฬโรค’ ระบาดเข้าสู่สยาม