ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดไฟเขียวให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เสนอ

สุขภาพของประชาชนจะตกอยู่ในความเสี่ยงโดยทันที

สาระสำคัญจาก ร่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วนั้น มี 2 ประเด็น ที่เครือข่ายนักวิชาการ เภสัชกร รวมถึงสภาวิชาชีพและสถาบันการศึกษา แสดงความกังวลอย่างรุนแรง

เรียกได้ว่าแสดงออกในเชิง “ต่อต้าน” ก็คงไม่ผิดความหมายสักเท่าใดนัก 

ประเด็นแรก คือมีการ “เปลี่ยนนิยาม” ใหม่ ในหมวด “ยาอันตราย”

ตามปกติแล้ว สามารถแบ่งประเภทยา ออกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ (เดิมเรียกว่ายาควบคุมพิเศษ) 2.ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ หรือยาอันตราย (เดิมกำหนดให้จ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น) 3.ยาสามัญประจำบ้าน

ทว่า นิยามใหม่ของ “ยาอันตราย” ถูกขยายให้ “ผู้ประกอบวิชาชีพ” ในวงการสาธารณสุขสามารถจ่ายได้

นั่นหมายความว่า แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ สามารถเป็นผู้จ่ายยาได้ทั้งหมด

ประเด็นสำคัญไม่ได้ซับซ้อน คำถามที่เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ คือ ใครจะรู้เรื่องยาได้ดีเท่า “เภสัชกร” ซึ่งเรียนศาสตร์ของยามาไม่ต่ำกว่า 6 ปี

การให้บุคลากรในแวดวง สธ.มีอำนาจจ่ายยา อาจนำไปสู่ การได้รับยาที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับโรค หรือแม้แต่ได้รับยาเกินความจำเป็น

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร กรรมการสภาเภสัชกรรม และอนุกรรมการด้านกฎหมาย สภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า หาก สนช.เห็นชอบและทำคลอด พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้จริง จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบยาของประเทศ ทำให้ประชาชนเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง

“การสั่งจ่ายยาในกลุ่มที่เป็นยาอันตราย เภสัชกรในฐานะผู้จ่ายยาจะต้องมีความรอบคอบรัดกุม เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจึงต้องผ่านการศึกษา ฝึกอบรม ตามหลักวิชาด้านยาโดยเฉพาะ เพื่อจะสามารถพิจารณาสั่งจ่ายยาที่ถูกต้องเหมาะสมตามขนาด ความแรงตัวยา โรคหรืออาการของโรค ข้อห้ามการใช้ยา การแพ้ยา อาการอันไม่พึงประสงค์ของยา การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา คำแนะนำในการใช้ยา เพศ และวัยของผู้ใช้ยา” ภก.วรวิทย์ ระบุ

ทางด้าน รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะกรรมการสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงประเด็นเดียวกันนี้ว่า การเปิดให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาอันตรายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจะยิ่งทำให้ประชาชนเสี่ยงมากขึ้น เพราะใครก็สามารถขายยาหรือส่งมอบยากลุ่มนี้ให้กับผู้ป่วยได้ ตรงนี้เป็นช่องโหว่มหาศาล ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องการใช้ยาพร่ำเพรื่อ การใช้ยาไม่สมเหตุสมผล รวมถึงการขาดแคลนยาที่จำเป็น และปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากเรื่อง “นิยามยาอันตราย” ที่กำหนดใหม่แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านยาแสดงความกังวลก็คือ กฎหมาย “เปิดช่อง” ให้สามารถนำยาที่ขึ้นทะเบียนแล้วมา “ผสม-บรรจุใหม่” ให้กับผู้ป่วยเป็นการเฉพาะรายได้

แบ่งออกเป็น 1.การนำยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วมาผสมใหม่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต 2.การนำยาที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาแบ่งบรรจุขาย ซึ่งผิดหลักการของกฎหมายเดิม

แน่นอนว่าทั้งสุ่มเสี่ยงและอันตราย โดยเฉพาะจากการปนเปื้อนและการปนเปจากตัวยาหนึ่งไปสู่อีกยาหนึ่ง เนื่องจากเป็นการผสมโดยไม่มีมาตรฐานรองรับ

ที่สำคัญการผสมยาหรือแบ่งบรรจุยาเองถือเป็น “ยาตำรับใหม่” ที่จำเป็นต้องได้รับอนุญาต และต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องว่าด้วยหลักการ ประสิทธิผลของยา ความปลอดภัยและคุณภาพของยาก่อน จึงจะนำมาจ่ายให้กับผู้ป่วยได้

ภญ.โศรดา หวังเมธีกุล นายกสมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (สภอท.) บอกว่า ในมาตรา 24 ของร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ เปิดให้สามารถนำยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยามาผสมและแบ่งบรรจุใหม่ให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ ซึ่งนอกจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนแล้ว  กรรมวิธีการผลิตยังไม่ถูกควบคุมด้วยมาตรฐานจีเอ็มพี ซึ่งหากผู้ประกอบวิชาชีพตามคลินิกต่างๆ สามารถผสมยาและแบ่งบรรจุขายเอง อาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดความเสี่ยงจากการแพ้ยาหรือมีผลข้างเคียงได้

แม้ว่าการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ จะเริ่มต้นจากกลุ่มนักวิชาการและเภสัชกรเล็กๆ แต่ขณะนี้สภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ 19 มหาวิทยาลัย และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม 6 แห่ง ได้ประกาศตัวร่วมคัดค้านอย่างเป็นทางการแล้ว

อย่างไรก็ดี ล่าสุดในโลกสังคมออนไลน์เริ่มมีการส่งต่อความคิดเพื่อ “คัดค้าน” พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีการล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org และเริ่มมีการพูดถึงอย่างหลากหลาย

ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ป้ายแดง และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข

เพราะท่านทั้งหมดอยู่ในสถานะที่สามารถยับยั้งได้ ... ถ้าเห็นแก่ประชาชนอย่างแท้จริง

ลิงค์ร่วมลงชื่อคัดค้าน พ.ร.บ.ยาที่ไม่เป็นธรรม