ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ สปสช. มีมติตั้ง “หน่วยงานควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ระดับเขต” หลังยุบ สปสช.จังหวัด เดินหน้างานพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการต่อเนื่อง พร้อมทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนกรณีได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์และพิจารณาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตาม ม.41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาปรับรูปแบบการทำงานเพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการของหน่วยบริการที่เป็นไปตามมาตรา 50 ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนให้กับประชาชนกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ และพิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้น มาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ภายหลังจากที่ สปสช.ได้มีประกาศยกเลิกให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็น สปสช.จังหวัด และให้มีการโอนย้ายภาระงาน สปสช.จังหวัดมาที่ สปสช.ระดับเขตแทน โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดำเนินงานต่อเนื่องและไม่ติดขัดปัญหา ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมจึงมีมติจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขที่ สปสช.ระดับเขตทั้ง 12 เขตขึ้น

พญ.ประสบศรี กล่าวว่า บทบาทของหน่วยควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ที่จัดตั้งขึ้นที่ สปสช.เขต นี้ จะทำหน้าที่เป็นเหมือนคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ในระดับเขต ให้กับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ  โดยจะมีบทบาทในการควบคุมการบริการของหน่วยบริการที่ต้องได้มาตรฐาน และพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพิ่มมากขึ้น ต่างจากอดีตที่ สปสช.เขตจะมีบทบาทในเรื่องนี้น้อยมาก โดยทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยประสานงานกับให้จังหวัดเท่านั้น ซึ่งการปรับงานควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ที่ขยับจากระดับจังหวัดมายังระดับเขตนั้น มองว่าเป็นประโยชน์ต่อหน่วยบริการและประชาชน เพราะไม่เพียงแต่ทำให้มีผู้รับผิดชอบงานควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ โดยตรง แต่ยังเพิ่มศักยภาพการการแก้ไขปัญหาที่เป็นภาพรวมทั้งหมด  ช่วยลดข้อจำกัดการแก้ไขปัญหาระดับเขตได้ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและดียิ่งขึ้น   

นอกจากนี้หน่วยควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ระดับเขตที่จัดตั้งขึ้นนี้ ยังจะทำหน้าที่ประสานกับเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (Service Plan) ที่แบ่งเป็น 12 เขตบริการเช่นกัน ทำให้เกิดความร่วมมือระดับแขตระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขที่นำไปสู่การพัฒนางานด้านคุณภาพร่วมกัน โดยเป็นไปตามบริบทของปัญหาและความพร้อมในการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข

พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่เกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์รวมไปถึงการพิจารณาช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 นั้น ยืนยันว่าแม้จะมีการยกเลิก สปสช.จังหวัดแล้ว แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยแน่นอน เนื่องจากประชาชนยังสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนยังหน่วยบริการ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตาม ม.50 (5) ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานต่อมายัง สปสช.เขตเพื่อพิจารณาและแก้ไขเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ทั้งนี้กรณีที่ผู้ร้องเรียนไม่พอใจผลการพิจารณายังสามารถร้องเรียนมายังคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ได้

“ในการปรับโครงสร้างการบริหารของ สปสช. ที่มีการยุบ สปสช.ระดับจังหวัดลงนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ เนื่องจากยังมีกลไกการทำงานอื่นที่มีศักยภาพและทดแทนได้ อีกทั้งการโอนภารกิจงาน สปสช.จังหวัด โดยขยับมาเป็นระดับเขต ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น” ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข