ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -การใช้ยาเพื่อรักษาโรคอย่างไม่ถูกต้อง ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมืองที่เลือกเชื่อรถเร่ขายยา โฆษณา หรือคำบอกเล่าปากต่อปาก จนกลายเป็นทำลายสุขภาพซ้ำเติม โดยที่กลไกรัฐซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังตรวจสอบ และจับกุม อย่างตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ทันได้รู้ตัว

การลงพื้นที่ของแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า "ยาชุด" ยังคงแพร่หลายอย่างหนักในพื้นที่ โดยมีการรวมยารักษาโรคบรรจุในซองยาขนาดเล็ก5เม็ด โดยเฉพาะที่ชุมชน "คลองตะเคียน" อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุด มีการวางจำหน่ายกลางศูนย์กลางชุมชน ในราคาเพียงซองละ 10บาท

"ใน 1 ชุด มีทั้งยาปฏิชีวนะ แก้ปวดหัว แก้หวัดแก้ติดเชื้อ แก้ไข้ รวมถึงใส่วิตามินเข้ามาด้วยให้ดูเต็มๆ และเพื่อให้ดูคุ้มค่าและครบถ้วน ซึ่งก็จริงอยู่ที่ยาทั้งหมดเป็นยาจริงที่มีการจำหน่ายตามร้านขายยา แต่ยาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเภสัชกร รวมถึงจำเป็นต้องรับยาให้ครบโดส เนื่องจากหากรับไม่ครบ จะทำให้เกิดอาการดื้อยา และอาจซ้ำเติมให้โรคที่เป็นอยู่หนักขึ้นได้" ภก.สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการประจำกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ฟัง

ภก.สันติ บอกอีกว่า ยาเหล่านี้หลุดมาโดยพ่อค้าหัวใสนำยาออกจากโรงงาน หรือร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต นำมาจำหน่ายให้พ่อค้าในชุมชน หรือนำใส่รถเร่ขายยา ออกไปตระเวนขายทั่วประเทศ ฟันกำไรอื้อซ่า จากราคามหาโหด เพราะปกติยาเหล่านี้ขายที่กระปุก 1,000 เม็ด 100 บาท หรือเม็ดละประมาณ 10 สตางค์ แต่เมื่อนำมาบรรจุขายแยกจะขายได้ ถึงเม็ดละประมาณ 1 บาท

นอกจากการกินยาชุดเหล่านี้แล้ว คนในชุมชนนี้ยังรับประทานทั้งยาชง ยาหม้อ รวมถึงยาลูกกลอนที่โฆษณาขายผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชนทำให้ปีที่ผ่านมามีตัวเลขผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งทุพพลภาพจากการใช้ยามากถึง 12 ราย ทำให้สันติต้องหันมาตั้งเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังการใช้ยาภายในชุมชนคลองตะเคียนและชุมชนรอบข้าง

วิยะดา แดนตะเคียน หนึ่งในอาสาสมัครฯบอกว่า มารดาป่วยด้วยโรคเบาหวาน รวมถึงรับประทานยาติดต่อกันมาตลอด17 ปี จนทำให้เป็นโรคไต ขณะเดียวกันก็พบปัญหาภายในชุมชนจากการรับประทานยาไม่ตรงตามอาการ รวมถึงชาวบ้านมีพฤติกรรมเชื่อฟังโฆษณาและสรรพคุณแบบปากต่อปาก จึงเข้ามาร่วมกับเครือข่าย

แม้สถานการณ์จะดีขึ้นหลังจากเครือข่ายฯ ลงพื้นที่สำรวจการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง แต่กระนั้นเองในชุมชนคลองตะเคียนก็ยังสามารถพบยาอันตรายถูกวางจำหน่ายอย่างไม่ถูกระเบียบในร้านขายของชำภายในหมู่บ้าน เพื่อขายให้กับชาวบ้านสามารถเลือกซื้ออย่างง่ายดายอยู่ดี

นอกจากนี้ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการกพย. บอกว่า ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษา"วัณโรค" ในคน จำหน่ายภายในร้านขายของชำของหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากสอบถามก็ได้ความว่า ยาดังกล่าวชาวบ้านเอาไปรักษาแผลอักเสบให้กับ"ไก่ชน"

"การนำไปใช้กับไก่ชนจะมีปัญหาแน่นอน คือ ไก่จะมีอาการดื้อยา และเมื่อเชื้อดื้อยาอยู่ในไก่ ก็มีโอกาสแพร่กระจายออกไปในสภาพแวดล้อมรอบชุมชน และเมื่อมนุษย์รับเชื้อดื้อยาเข้าไป ก็จะไม่สามารถใช้วิธีการรักษาแบบเดิมได้ ทำให้การรักษาโรควัณโรคซับซ้อนขึ้น ที่น่าตกใจคือเราพบว่ามีการใช้ยามนุษย์ในฟาร์มสัตว์อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งฟาร์มหมูและฟาร์มวัว ซึ่งผลการวิจัยก่อนหน้านี้พบแล้วว่าส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาในคน" ภญ.นิยดา กล่าว

ภญ.นิยดา บอกอีกว่า เคยเสนอไปยัง อย.เพื่อให้คุมเข้มกระบวนการผลิตยา รวมถึงตรวจสอบร้านขายยา แต่ก็ยังพบช่องโหว่อีกมาก

"ปัจจุบันเราเจอปัญหาเรื่องยาหลากชนิด ตั้งแต่ยาสเตียรอยด์ที่แพร่ระบาด ยาปลอม หรือการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง คำถามก็คือว่าในเชิงนโยบายควรจะเพิ่มเรื่องการใช้ยาของประชาชนให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องจัดการและควบคุมอย่างรัดกุมหรือไม่หรือจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ จนทำลายสุขภาพประชาชนต่อไปเรื่อยๆ" ภญ.นิยดา กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 กันยายน 2557