ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

(1)

เมื่อปลายเดือน ก.พ. - ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ถูกหยิบยกเป็นประเทศต้นแบบในฐานะดินแดนที่สามารถจัดการโควิด – 19 ได้ และสามารถ Flattening the curve หรือลด “ความชัน” กราฟได้สำเร็จ จากเดิมที่มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีกรณีเรือสำราญ Diamond Princess และมีจุด Hot Spot ที่มีผู้ติดเชื้อสูง จนเชื้อกระจายไปทั่วโลกอย่างเกาะฮอกไกโด

อันที่จริง หากมองย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อเพียงวันละ 30-50 คนเท่านั้น แต่ตัวเลข ณ วันที่ 9 เม.ย. 2 วันหลังนายกฯ ชินโซ อาเบะ ประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ตัวเลขผู้ติดเชื้อของญี่ปุ่น กลับเพิ่มเป็น 601 คนในวันเดียว พร้อมกับพบ “คลัสเตอร์” ใหม่ๆ กระจายไปตามหัวเมืองใหญ่อย่างโตเกียว โอซากา โยโกฮามา ตัวเลขผู้ติดเชื้อของญี่ปุ่น พุ่งไปแตะ 5,536 คน และยังไม่มีวี่แววที่จะชันน้อยลงสักนิด

แล้วความผิดพลาดของญี่ปุ่นอยู่ตรงไหน?..

(2)

อันที่จริง หากย้อนกลับไปตั้งแต่เดือน ก.พ. จะพบว่ารัฐบาลญี่ปุ่น มีมาตรการน้อยมาก ในการจัดการกับไวรัส ประเทศนี้ไม่มีการ “ล็อกดาวน์” ไม่มีการออกคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ โดยรัฐ แต่เป็นการ “ขอความร่วมมือ” จากภาคเอกชน ในการ Social Distancing หรือเว้นระยะห่างทางสังคมตั้งแต่แรก

มีแต่เพียงคำสั่งให้ปิดโรงเรียน ปิดสถานที่สำคัญอย่างสวนสนุก พิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. วันเดียวกับที่เกาหลีใต้ ประเทศข้างเคียง และประเทศในยุโรป เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

เพราะส่วนหนึ่ง อาเบะยังเชื่อว่า ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละ 30-50 คน จะไม่ได้มากนัก และจะสามารถ “สอบสวน” เส้นทางการระบาดได้สำเร็จ

แต่นั่นตรงกันข้ามกับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ในเวลานั้นทุกคน รวมถึงรัฐบาล ล้วนเห็นตรงกันว่าวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น ซึ่งต้องนั่งทำงานในออฟฟิศ ต้องตรงเวลางานอย่างเคร่งครัด และทำให้ทุกคนต้องเข้าเมืองไปทำงานพร้อมกันด้วยรถไฟฟ้านั้น จะทำให้หลายเมือง มีจำนวนผู้ติดเชื้อนับหมื่นคน

ตัวเลขที่ประมาณการณ์ ณ ต้นเดือน มี.ค. ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาระบุว่า ในช่วงพีคที่สุด โตเกียวจะมีผู้ป่วยนอก 4.5 หมื่นคนต่อวัน ผู้ป่วยใน 2 หมื่นคนต่อวัน และจะมีผู้ป่วยหนัก มากกว่า 700 คน โดยอาเบะ ได้สั่งให้โรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่น เตรียมรับมืออย่างเต็มที่

ทว่า กลับไม่มีนโยบาย “ปิด” สถานที่ใดๆ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ผับ ร้านเหล้าแบบอิซากายะ ร้านปาจิงโกะ

(3)

และในที่สุด กลางเดือน มี.ค. ญี่ปุ่นก็พบ “คลัสเตอร์” ใหม่ของการระบาด ที่ “ไลฟ์เฮาส์” คอนเสิร์ต 4 แห่ง ในโอซาก้า ซึ่งพบผู้ติดเชื้อไปมากกว่า 80 คน และกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพิ่มตัวเลขผู้ติดเชื้อจากหลักหน่วยในโอซากา กลายเป็นหลักร้อยในเวลาไม่กี่วัน

ขณะเดียวกัน หลังจากโอลิมปิกเกมส์ 2020 ถูกเลื่อนอย่างเป็นทางการไปปีหน้า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ตัวเลขการติดเชื้อญี่ปุ่นที่ “อั้น” มานาน ก็พุ่งพรวด เป็นเกินวันละ 100 คน ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 300 คน ในสัปดาห์ถัดมา และเป็นวันละ 600 คนในตอนนี้
โดยส่วนใหญ่ ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มนั้น อายุต่ำกว่า 50 และสถานที่แพร่เชื้อส่วนใหญ่ล้วนมาจากบาร์ ร้านอาหาร และร้านเหล้า ซึ่งต้องนั่งใกล้ชิดกัน อันเป็นผลพวงจากความผิดพลาดของรัฐ ที่ไม่สั่งปิดให้เร็วกว่านี้

ขณะเดียวกันกว่าจะเริ่มปิดไม่ให้ชาวต่างชาติจากต่างประเทศ เดินทางเข้าประเทศก็ปาเข้าไปวันที่ 27 มี.ค. โดยหนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่นห้ามเข้า ได้รวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ อาเบะ ก็เพิ่งรู้ตัวว่า มาตรการในการจัดการของญี่ปุ่นนั้น “อ่อน” เกินไป เพราะเมื่อถึงฤดูชมดอกซากุระ คนญี่ปุ่น ต่างก็แห่ไปชมดอกไม้ในสวน ตามมาด้วยคำสั่งไล่หลัง ว่าด้วยการปิดสวน ปิดบาร์ ปิดผับ และออกประกาศภาวะฉุกเฉิน ใน 6 เมืองใหญ่ พร้อมกับขอความร่วมมือให้ “เวิร์คฟรอมโฮม”

ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลในการสั่งปิดสถานที่ สั่งหยุดทำงาน สั่งให้คนอยู่บ้าน หรือลงโทษคนที่ไม่ทำตาม “ภาวะฉุกเฉิน” ของญี่ปุ่นนั้น ให้อำนาจเพียงแค่ร้องขอให้ผู้ว่าราชการของเขตต่างๆ ใช้อำนาจสั่งปิดโรงเรียน ให้เตรียมโรงพยาบาลสนาม เท่านั้น และหากไม่ทำตาม ก็ไม่มีบทลงโทษอะไร

ถึงตรงนี้ ญี่ปุ่นหวังว่าจะใช้เรื่อง “บทลงโทษทางสังคม” เพื่อให้แต่ละออฟฟิศ บีบให้พนักงานทำงานที่บ้าน และบีบให้คนญี่ปุ่น หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน

(4)

แต่ช่องทางดังกล่าว ก็ยังไม่สำเร็จเต็มที่อยู่ดี ตามแผนเดิมนั้น รัฐบาลญี่ปุ่น คาดหวังว่าจะสามารถลดการติดต่อระหว่างผู้คนในโตเกียวได้ 80% แต่ความเป็นจริงก็คือ รถไฟสาย “ยามาโนเตะไลน์” ที่วิ่งรอบกรุงโตเกียวนั้น ยอดผู้ใช้งานตกเพียง 40% เท่านั้น ส่วนรถไฟใต้ดินสายอื่น ยอดตกเพียง 30% จากวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นที่สุดท้าย ต้องเห็นหน้าเห็นตากันอยู่ดี

ขณะเดียวกัน การเดินทางระหว่างเมือง ระหว่างจังหวัด ด้วยรถไฟชินคันเซนนั้น ก็ยังวิ่งตามปกติ ทันทีที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินใน 6 จังหวัด คนญี่ปุ่นจำนวนมากรีบจับรถไฟกลับบ้าน เพื่อหนีภาวะฉุกเฉิน จนทำให้กลายเป็นแคมเปญรณรงค์ในเวลาถัดมา ขอให้คนอยู่ในโตเกียวเท่านั้น

ความผิดพลาดที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ญี่ปุ่น ยังปฏิเสธที่จะเตรียม “ชุดตรวจ” โควิด-19 ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยตั้งเกณฑ์ผู้ป่วยสำหรับสอบสวนโรคไว้สูงลิบ ปลายเดือน ก.พ. สื่อญี่ปุ่นหลายสำนักรายงานตรงกันว่าผู้ป่วยโควิด-19 หลายคนที่มีอาการระยะเริ่มต้น ไปจนถึงปานปลาง เข้าไม่ถึงการตรวจ เพราะญี่ปุ่นตั้ง “เกณฑ์” ไว้สูง เพื่อป้องกันไม่ให้คนแห่มาตรวจ ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพยากรอย่างชุดตรวจ และแล็บมากเกินไป

วันที่ 26 ก.พ. ญี่ปุ่น เพิ่งเก็บตัวอย่างไปได้แค่ 6,300 ตัวอย่างเท่านั้น โดยตลอด 1 สัปดาห์ ที่ควรจะมีการตรวจเชื้ออย่างเข้มข้น กลับตรวจได้เพียงวันละ 900 เทสต์ นำมาซึ่งการประท้วงของสมาพันธ์แพทย์ญี่ปุ่น ให้เพิ่มการตรวจให้เยอะขึ้น

(5)

กว่าญี่ปุ่นจะเริ่มมาตรการเทสต์เพิ่มได้ ก็ปาไปอีกหนึ่งเดือนถัดมา ล่วงเข้าเดือน เม.ย. ญี่ปุ่นเพิ่งเทสต์ได้แค่วันละ 7,500 เทสต์ และเพิ่งมีจำนวนเทสต์รวมกันราว 7 หมื่นเทสต์ ใกล้เคียงกับไทยเท่านั้น ทั้งที่ประชากรญี่ปุ่น มีจำนวนประชากรกว่า 126.8 ล้านคน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเจอ “คลัสเตอร์” ใหม่อย่างต่อเนื่อง หลังเพิ่มจำนวนการเทสต์ ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาลกลางกรุงโตเกียว หรือในมหาวิทยาลัย ที่นักเรียนแพทย์ไปกินเลี้ยงสังสรรค์ จนทำให้แขกคนอื่นๆ ในงานเลี้ยงติดเชื้อไปด้วยถึง 18 คน จาก 99 คน

จนถึงขณะนี้ หลายจังหวัดเริ่มชิงประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ด้วยตัวเอง และกลายเป็นเกมการเมืองขนาดย่อมๆ ระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น เมื่อท้องถิ่น มองว่ารัฐบาลกลาง และตัวนายกฯ อาเบะ นั้นอ่อนเกินไป และรัฐบาลกลาง ก็มองว่ารัฐบาลท้องถิ่น ไม่ยอมใช้อำนาจของตัวเอง

ถึงตรงนี้ ญี่ปุ่นเริ่มรู้ดีว่าน่าจะเอาไม่อยู่ และสถานการณ์จะแย่กว่าที่คิด จึงต้องเพิ่มการตรวจแบบ PCR ขึ้นเป็น 2 หมื่นเคส ต่อวัน เพิ่มเตียงคนไข้ และโรงพยาบาลสนาม อีก 5 หมื่นเตียง เพิ่มเครื่องช่วยหายใจเป็น 1.5 หมื่นเครื่อง รวมถึงเพิ่มยาอาวิแกน ซึ่งญี่ปุ่นผลิตเอง ให้พอรองรับสำหรับผู้ติดเชื้อ 2 ล้านคน

(6)

ทั้งหมดนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังหวังว่าการ “ยูเทิร์น” น่าจะทันเวลา และคนญี่ปุ่นเองส่วนใหญ่ก็ระมัดระวังด้วยการ “ใส่หน้ากาก” ในช่วงเริ่มฤดูใบไม้ผลิ หรือช่วงตั้งแต่ ม.ค. - เม.ย. อยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขของญี่ปุ่นจะไม่พุ่งมาก เหมือนกับในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกา

“จุดวัดใจ” จะอยู่ในช่วงหลังจากนี้ ที่ญี่ปุ่นกำลังจะเพิ่มจำนวนเทสต์ ว่าสุดท้ายกราฟจะดิ่งขึ้นหรือไม่ หรือจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนระบบสาธารณสุข ยังพอจะรองรับได้

แต่ความอลวนทั้งหมด ได้สะท้อนชัดว่า ญี่ปุ่น มีปัญหาในการรับมือ และประเมินโควิด – 19 ต่ำกว่าสถานการณ์ไปมากจริงๆ

เขียนโดย สุภชาติ เล็บนาค

อ้างอิงจาก

1.Experts sound alarm over Japan's coronavirus testing (www.japantimes.co.jp)

2.There are fears a coronavirus crisis looms in Tokyo. Is it too late to change course? (https://edition.cnn.com)

3.Clash looms in Japan as Tokyo governor says Abe's Covid-19 measures not enough (www.theguardian.com)

4.Japan Declared a Coronavirus Emergency. Is It Too Late? (www.theguardian.com)