ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -จู่ๆ ก็มีคำสั่งจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้ยุติเข้าร่วมประชุมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขงดเข้าร่วมการประชุมกับ สปสช. ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ

เป็นปรากฏการณ์สะท้อนถึงความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสุขทุกข์ปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างปลัด สธ. กับทีมที่ปรึกษารัฐมนตรี ซึ่งล้วนเป็นหมอตระกูลส. ที่มีบทบาทสูงใน สธ. ทั้งยังคุม สปสช.ที่ดูแลงบประมาณสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

มหากาพย์ความขัดแย้งใน สธ.ถูกเรียกมาตลอดว่า คือ ความขัดแย้งภาพใหญ่ระหว่างกลุ่มก้อนที่เรียกว่าแพทย์ชนบท กับแพทย์สายกระทรวง ซึ่งมักจะมีขุมกำลังอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยส่วนมากผู้นำกลุ่มนี้มักเป็นปลัดกระทรวง

อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมาเกิดความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อทั้งการเมืองระดับชาติและการเมืองภายในเข้ามาทับซ้อนพัวพันกับหมอในกระทรวงแห่งนี้ เริ่มจากวันที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สาธารณสุข อยู่เบื้องหลังผลักดัน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ให้ขึ้นมาเป็นปลัดสธ. เมื่อปี 2555 และมีโรดแมปสำคัญอย่างการสลายขั้ว "แพทย์ชนบท"

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสลายท่อน้ำเลี้ยง "พี่ใหญ่" ของแพทย์ชนบท ซึ่งก็คือองค์กรอิสระในสังกัด สธ. และนอกสังกัด สธ. หรือ องค์กรตระกูล ส.อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สปสช.ให้กลับมาอยู่ใต้อาณัติอีกครั้ง

แต่สุดท้ายลมก็เปลี่ยนทิศ หมอณรงค์กลายเป็นฮีโร่ชั่วข้ามคืน เมื่อประกาศตัดขาดกับรัฐบาลในช่วงที่ม็อบ กปปส.กำลังพุ่งถึงจุดพีก รวมถึงขี่กระแสปฏิรูปรวมถึงปลุกใจข้าราชการกลุ่ม สสจ.ให้รวมตัวกันเป็น "ประชาคมสาธารณสุข" ขึ้นเป็นขั้วอำนาจใหม่ ต่อต้าน "นักการเมืองโกง" ตามทิศทาง กปปส.

ไม่นานหลังจากนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ หมอณรงค์มีอำนาจเต็มในมือ ก็จัดการเตรียมเปลี่ยนงบประมาณกองทุน สปสช.ให้ลงไปยังเขตบริการสุขภาพของ สธ.โดยตรงแทนที่จะลงหน่วยบริการ และขอให้ สปสช.ยุบกองทุนย่อยจาก 14 กองทุนเหลือ 4 กองทุน พร้อมออกคำสั่งห้ามสังฆกรรมกับ สปสช. และบอกว่าถึงเวลาที่จะสะสางความทุกข์ของเจ้าหน้าที่ สธ.แล้ว โดยหมอณรงค์ในฐานะลูกรักคนหนึ่งของ คสช.ไปลากเอาทหารเรือมาเป็นตัวกลาง เคลียร์เรื่องเงินๆ ทองๆ

แต่ฝ่ายตระกูล ส. เหนือชั้นกว่าเพราะเข้าหาทั้งทหาร เพื่อหาที่ยืนของตัวเองในยุคปฏิรูปเช่นกัน ทำให้แผนไล่บี้สปสช.ของหมอณรงค์ที่ต้องการยุบกองทุนย่อยต่างๆ ไม่สำเร็จ ทั้งยังดับฝันที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

ภาพความขัดแย้งระหว่างสองขั้ว ทำให้ขุนทหารขยาดที่จะเข้ามานั่งเองต้องหาคนกลางๆ อย่างสาย "โรงเรียนแพทย์" เข้ามารับงานใหญ่แทน

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน จึงเข้ามารับบทผู้ห้ามศึกเสื้อกาวน์ระหว่างสองขั้วและดึงเอา นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รุ่นน้องรามาฯ เข้ามาเป็น รมช.

ทว่า ผ่านไป 1 เดือนเริ่มเห็นชัดว่านโยบายของฝ่ายการเมือง และฝ่ายข้าราชการประจำ ดูจะไปกันคนละทิศคนละทาง ขณะที่หมอณรงค์ไม่สังฆกรรมกับตระกูล ส. แต่ฝ่ายการเมืองมีตระกูล ส.ทำงานวิชาการป้อน และเมื่อหมอณรงค์เสนอโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 เพื่อตั้งคนของตัวเองขึ้นเป็นรองปลัด ฝ่ายการเมืองก็ดองเรื่องดังกล่าวนานนับเดือน

ความขัดแย้งที่ร้าวลึก ตอกย้ำผ่านคำสั่งของหมอณรงค์ ห้ามไม่ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เข้าร่วมประชุมรับฟังชี้แจงงบกองทุน สปสช.ดังที่กล่าวมา โดยอ้างว่ายังหารือกับ สปสช.ไม่จบ ซึ่งเมื่อ สปสช.รู้ ก็แก้เกมกลับด้วยการเชิญสองรัฐมนตรีไปเป็นประธานเปิดงานมอบนโยบาย ไม่เท่านั้นทั้งสองรัฐมนตรียังเชิญ "ซีอีโอ" ตระกูล ส. ทุกแห่งไปบรรยายถึงความร่วมมือระหว่างกัน หลังโดน สธ.ละทิ้งมานาน เรียกว่าฟากรัฐมนตรีก็ไม่ไว้หน้าปลัด สธ.

ธรรมชาติของข้าราชการ เมื่อการเมืองเปลี่ยนทิศ พร้อมกับเก้าอี้ปลัดที่เริ่มสั่นคลอน หลังจากนี้ก็ได้เวลาสำคัญในการจัดทัพข้าราชการใหม่ เพื่อเป็นตัวเสริมเก้าอี้ของ ศ.นพ.รัชตะ ให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ปัญหาความขัดแย้งใน สธ.จะยุติลงหรือลากยาวต่อไป และจะกระทบกับภารกิจใหญ่ของ สธ.ที่ต้องยกระดับพัฒนาระบบสุขภาพคนไทยให้ทั่วถึงหรือไม่...น่าติดตาม

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 ตุลาคม 2557