ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : หากติดตามสถานการณ์ความวุ่นวายภายในกระทรวงหมออย่างใกล้ชิด จะรู้ดีว่ามติของคณะกรรมการเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ให้ "เลิกจ้าง" นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. ไม่ได้เหนือความคาดหมายใดๆ

นั่นเพราะตั้งแต่ บอร์ด อภ.ชุดปัจจุบันเข้าสู่ตำแหน่ง ก็มีกระแสข่าว "ปลด" นพ.สุวัช อย่างหนาหู โดยมีมาก่อนที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) จะรับตำแหน่งด้วยซ้ำ

บุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึงในบอร์ดชุดนี้ เริ่มตั้งแต่ประธานคือ พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร รองเสนาธิการทหารบก นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. และ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุขเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ทั้งหมด ไม่อาจสลัดภาพออกจากทีมที่ปรึกษารมว.สธ. ได้

ที่ต้องยอมรับคือ องค์กรแห่งนี้ไม่ต่างอะไรจาก"แดนสนธยา" ที่มีปัญหาหมักหมมไว้ใต้พรมจำนวนมาก ตั้งแต่ปัญหาการสร้างโรงงานผลิตยา โรงงานผลิตวัคซีน ที่คาราคาซังมานานเกือบ 10 ปี รวมไปถึงปัญหาการเมืองภายใน ซึ่งมีการปล่อยข่าวเลื่อยขาผู้บริหารทุกยุคทุกสมัย เรื่อยไปจนถึงปัญหาใหม่อย่างการจัดส่งยาไม่ทัน เดือดร้อนกันไปหลายโรงพยาบาล

ลำพังการเมืองภายในไม่พอ การเมืองภายนอกยังเข้มข้นกว่า เพราะคนใน สธ.และใน อภ. ต่างรู้กันดีว่าหมอสุวัช ถูกส่งมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.โดยนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ซึ่งเป็นศิษย์เก่าแพทย์สวนดอก (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ด้วยกัน

บุคลิกของ นพ.สุวัช เป็นคนน่ารัก เป็นมิตรกับทุกคน ทว่าประสบการณ์การบริหารยังน้อย เขี้ยวเล็บทางการเมืองมีไม่มากพอ ที่สำคัญคือตัวเขาติดยี่ห้อหมอณรงค์มาด้วย

แน่นอนว่าไม่เป็นผลดี เมื่อ นพ.ณรงค์ มีศัตรูคนสำคัญคือชมรมแพทย์ชนบท รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอที่อยู่รายล้อม

1 ปี ของหมอสุวัช จึงเต็มไปด้วยขวากหนาม เขาโดน 8 เครือข่ายสุขภาพร้องเรียนตั้งแต่เรื่องการจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ไม่ทัน การจัดส่งยาล่าช้ากว่ากำหนดรวมไปถึงเรื่องเดิมๆ อย่างการแก้ปัญหาการจัดสร้างโรงงานผลิตยา ผลิตวัคซีน พ่วงด้วยอีกเรื่องสำคัญคือการเช่าโรงพยาบาลเอกชน ที่ จ.มหาสารคาม เพื่อเป็นศูนย์ล้างไต และให้เจ้าของโรงพยาบาลเป็นที่ปรึกษาโครงการ

ห้วงแรกนั้น หมอสุวัช มีบอร์ด อภ.ซึ่งมี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตเลขาธิการ อย. เป็นประธานและมีคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ สธ. รวมถึงตัวของ นพ.ณรงค์ เองก็เป็นกรรมการด้วย เปรียบเสมือนเป็นเปลือกหอยคุ้มกันไว้

แต่เมื่อบอร์ดชุดดังกล่าวได้รับสัญญาณจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ลาออกทั้งชุด ตามนโยบายที่ต้องการสะสางผลประโยชน์ในองค์กรรัฐวิสาหกิจกระเทือนถึงหมอสุวัช ที่ต้องนับถอยหลังไปด้วย

กระทั่งถึงวันที่ถูก "เลิกจ้าง" แบบฟ้าผ่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา

"ผมยืนยันว่าหมอสุวัชเป็นคนดี แต่ขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กรยังมีอีกมาก โดยที่คุณหมอสุวัชไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คณะกรรมการมีความจำเป็นต้องหาผู้บริหารที่สามารถบริหารคนและบริหารงานให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป" พล.ท.ศุภกร ในฐานะประธานบอร์ด เปิดแถลงถึงความจำเป็นในการเลิกจ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้บอร์ด อภ.จะยืนยันข้อกฎหมายว่าสามารถเลิกจ้าง นพ.สุวัช ได้ แต่หากเทียบกับมาตรฐานบอร์ดชุดหมอพิพัฒน์ ที่ปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่ง ก็ยังแตกต่างกันมากเพราะครั้งนั้นมีการโหมกระแสว่า นพ.วิทิต บริหารโครงการโรงงานผลิตยา-ผลิตวัคซีนผิดพลาด รวมถึงปล่อยให้วัตถุดิบยาพาราเซตามอลมีการปลอมปนนานนับเดือน เป็นเหตุให้บอร์ดต้องตัดสินใจปลดในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ประธานบอร์ด อภ.กลับบอกเพียงว่า นพ.สุวัช ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถบริหารความขัดแย้งในองค์กร แต่ไม่มีรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นี่อาจเป็นความต้องการของทีมที่อยู่รายล้อม รมว.สธ. เพื่อวัดกำลังว่าหากตัดสินใจปลดคนของฝ่ายปลัด สธ.แล้ว จะเกิดแรงกระเพื่อมตามมามากน้อยเพียงใด

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 28 ตุลาคม 2557