ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงเดินหน้า “โครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจก” รุกลดผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดตกค้างรอคิวผ่าตัดรายใหม่ปีละเกือบ 60,000 ราย และต้อกระจกชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางในผู้สูงอายุ หวังเพิ่มคุณภาพชีวิตและป้องกันตาบอดที่จะตามมา เน้นสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นของขวัญปีใหม่ที่ รมว.สาธารณสุข จะมอบให้กับประชาชน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกของ สปสช. เกิดจากข้อจำกัดของการให้บริการผ่าตัดตาต้อกระจก ซึ่งต้องทำโดยจักษุแพทย์ที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ทำให้การผ่าตัดต้อกระจกก่อนปี 2550 ทำได้เพียงปีละไม่เกิน 50,000 ตา หรือประมาณ 1,000 ตาต่อล้านประชากร ต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ควรอยู่ที่ 3,500 ตาต่อล้านประชากร หรือต่ำกว่าสวัสดิการข้าราชการที่ผ่าตัดต้อกระจกให้ข้าราชการและครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 ตาต่อล้านประชากร  ขณะที่แต่ละปีจากข้อมูลการสำรวจภาวะตาบอด สายตาเลือนรางและโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2549-2550 ซึ่งสำรวจประชากรทุกกลุ่มอายุทั่วประเทศ พบผู้ป่วยต้อกระจกอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ของประชากรทั่วประเทศ 60 ล้านคน โดยมีจำนวนต้อกระจกสะสม 5.4 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในส่วนที่ สปสช.ต้องดูแลรับผิดชอบประมาณ 4.3 ล้านคน และน่าจะมีหลายแสนคนที่เป็นชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางกระทบต่อการดำรงชีวิตจนถึงชนิดบอดที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดต้อกระจกตามคำแนะนำผ่าตัดต้อกระจกของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย แต่ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าไม่ถึงการบริการรักษา

ทั้งนี้ถ้าจะแก้ไขปัญหาผ่าตัดต้อกระจกสะสมตามสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงรายใหม่ที่เกิดขึ้นแต่ละปี สปสช.ควรผ่าตัดต้อกระจกได้ปีละไม่น้อยกว่ากว่า 150,000 ตาหรือ 3,500 ตาต่อล้านประชากรตามมาตรฐานสากล ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้ สปสช.จัดทำโครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกขึ้นในปี2550 เพื่อเพิ่มการบริการผ่าตัดต้อกระจกชนิดสายตาเลือนลางรุนแรงปานกลางและชนิดตาบอดจากเดิมบริการได้ปีละ 50,000 ตาเป็นไม่น้อยกว่าปีละ 120,000 ตา ด้วยการช่วงแรกเพิ่มบริการเชิงรุกในพื้นที่ขาดแคลนหรือมีการบริการต่ำโดยสนับสนุนให้หน่วยบริการของรัฐ เอกชน และมูลนิธิการกุศลต่างๆ เช่น พอ.สว.จัดบริการเชิงรุกควบคู่กับการบริการตั้งรับแบบปกติ ภายใต้การควบคุมตรวจสอบ ปรับเพิ่มคุณภาพมาตรฐานมากกว่าการผ่าตัดในระบบปกติ และในปีงบประมาณ 2558 นี้ จะเน้นทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายทหาร ในการณรงค์ค้นหา และผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอดให้กับผู้สูงอายุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เเป็นของขวัญปีใหม่ตามนโยบายของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข

นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. กล่าวว่า สรุปภาพรวมการผ่าตัดต้อกระจก ปี 2550-2557 แนวโน้มจำนวนผ่าตัดต้อกระจกชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางและชนิดบอดเพิ่มขึ้นและคงที่อยู่ที่ประมาณปีละ 140,000 ตา ขณะที่จำนวนผ่าตัดเชิงรุกลดลงเหลือเฉพาะที่ให้บริการอยู่ใน รพ.ในพื้นที่ที่มีการผ่าตัดน้อยและมีคิวนัดผ่าตัดยาว โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคใต้ และมีแนวโน้มการให้บริการผ่าตัดชนิดบอดเพิ่มมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของการผ่าตัดต้อกระจกแต่ละปี โดยในช่วง 7 ปี มีผู้ป่วยต้อกระจกได้รับการผ่าตัดแล้ว 988,308 ราย หรือร้อยละ 45.9 ของกลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับการผ่าตัดตามเกณฑ์ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะตาบอด 128,480 ราย สะท้อนให้เห็นถึงการบริการที่เข้าถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การรักษาผู้ป่วยต้อกระจกที่ สปสช.ดำเนินการ แม้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่จากข้อมูลการบริการที่ผ่านมา สปสช.มีอัตราผ่าตัดต้อกระจกเฉลี่ยเพียง 2,800-3,000 ตาต่อล้านประชากรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 3,500 ตาต่อล้านประชากรต่อปี (เมื่อเทียบกลับจาก Cataract Triangle ที่เป็นมาตรฐานการกำหนดเป้าหมายของแต่ละประเทศ ตรงกับค่า VA เท่ากับหรือน้อยกว่า 20/100 ในเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนดตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยต้อกระจกที่ยังต้องรับการรักษาอยู่ ถือเป็นความจำเป็นในการจัดบริการ ในด้านงบประมาณที่ สปสช.ใช้ต่อรายก็ยังต่ำกว่าของสวัสดิการข้าราชการและของเอกชนมาก” นพ.ปานเทพ กล่าว

ด้าน นางสำเภา นภีรงค์ ประธานเครือข่ายผู้สูงอายุหนองจอก กทม. กล่าวว่า โครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกของ สปสช. นับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุในมีฐานะยากจน เข้าไม่ถึงการรักษา โดยช่วยให้ผู้ที่มีสายตาเลือนลางและอยู่ในภาวะตาบอดกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ภายหลังจากที่ สปสช.ดำเนินโครงการนี้ ในฐานะประธานเครือข่ายผู้สูงอายุหนอกจอกจึงได้รวบรวมผู้สูงอายุที่มีภาวะตาต้อกระจกในพื้นที่หนองจอกและใกล้เคียงเข้ารับการผ่าตัดจำนวนกว่าพันดวงตาแล้ว จึงนับเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มาก