ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.สนับสนุนมหาวิทยาสงขลานครินทร์ พัฒนาหลักสูตรผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทแนวใหม่ ใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานจัดการเรียนการสอน ให้แพทย์มีประสบการณ์ตรงอยู่ในชุมชนจริง เริ่มต้นแบบที่เขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ก่อน เพื่อขยายแนวคิดสู่เขตสุขภาพอื่นๆ

2 พ.ย.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมประชุมหารือกับ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำคณาจารย์ประกอบด้วย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และรองคณบดีคณะแพทย์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาระบบการศึกษาแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบสาธารณสุข ให้บริการประชาชนในจังหวัดภาคใต้ โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ของการผลิตแพทย์ที่จะออกไปรับใช้ประชาชนในชนบท เป็นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ตรงและเข้าใจวิถีชีวิตชุมชนได้ดียิ่งขึ้น  

นพ.ณรงค์กล่าวว่า การที่ผู้ผลิตคือมหาวิทยากับผู้ใช้คือกระทรวงสาธารณสุข มาร่วมปรึกษาหารือ เป็นวิธีการที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยในการผลิตแพทย์เพิ่มนั้น จะให้ความสำคัญกับเขตสุขภาพที่มี 12 เขต ซึ่งมีคณะกรรมการประจำเขตสุขภาพซึ่งมาจากทุกภาคส่วน ร่วมบริหารจัดการจัดระบบบริการประชาชนในพื้นที่ที่ดูแลเขตละ 5 - 7 จังหวัด  และต้องช่วยกันคิดระบบการศึกษาในการผลิตกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้สอดคล้องความต้องการในการจัดบริการของเขตสุขภาพ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงพร้อมให้การสนับสนุนโครงการผลิตแพทย์ดังกล่าวของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นต้นแบบในการขยายแนวคิดที่กล่าวมาไปยังเขตสุขภาพอื่นๆต่อไป      

ด้านศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา มีโครงการก่อตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดตรัง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดจะพัฒนาหลักสูตรการผลิตแพทย์แนวใหม่ คือใช้โรงพยาบาลชุมชนสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ เป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากการผลิตแพทย์ที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับการจัดบริการสุขภาพเท่าที่ควร ทำให้ประเทศ ยังคงขาดแคลนแพทย์ในชนบทอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุขก็ตาม 

ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแพทย์ทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติในการปฏิรูปปรับการเรียนการสอนแพทย์ในศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านระบบการสอน และพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น