ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อกพ.ก.พ. เลื่อนพิจารณา “หลักเกณฑ์อนุมัติตำแหน่งผู้อำนวยการสูง” หลังใช้เวลาพิจารณานานร่วม 3 ปี อ้างขอข้อมูลเพิ่มเติม ด้าน “ผอ.รพ.กระทุ่มแบน” ระบุ รออนุมัติผู้อำนวยการสูงทำเสียสิทธิ์ก้าวหน้า พร้อมข้องใจแทน รพ.บึงกาฬ ยกฐานะเป็น รพ.จังหวัด ตั้งแต่ปี 54 ส่วนราชการอนุมัติปรับทุกตำแหน่ง ยกเว้น ผอ.รพ.

2 ธ.ค.57 นพ.โชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร กล่าวถึงปัญหาการปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสูง หลังมีการยกระดับ รพ.กระทุ่มแบน จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ว่า ภายหลัง รพ.กระทุ่มแบน ได้ยกระดับเป็น รพท.แล้ว แต่ปรากฎว่าในส่วนของตำแหน่ง ผอ.รพ. และ รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร ยังไม่มีการปรับตามสถานะ รพ. เนื่องจากยังติดข้อจำกัดที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยังไม่อนุมัติ เนื่องจาก ก.พ.ต้องมีวิธีคิดค่างาน และหลักเกณฑ์เพื่อยกระดับเป็นผู้อำนวยการสูงของ รพ. ซึ่งยังไม่เคยมีการทำมาก่อน ดังนั้นการดำเนินการจึงต้องใช้ความเข้าใจ ทำให้การหาข้อสรุปหลักเกณฑ์ของ ก.พ.จึงใช้เวลานาน

นพ.โชคชัย กล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้นนี้ในส่วนของ รพ.กระทุ่นแบนนั้นพอเข้าใจได้ เนื่องจากในการยกระดับเป็น รพท.มาจากข้อเสนอของทาง อกพ.สป.สธ. ทาง ก.พ.จึงอาจมีเหตุผลในการใช้เวลาพิจารณาได้ แต่ในกรณีของ รพ.บึงกาฬ ซึ่งตามหลักการได้ถูกยกฐานะเป็นโรงพยาบาลจังหวัดที่ขยับตามมติ ครม.ในการจัดตั้ง จ.บึงกาฬ เมื่อปี 2554 จึงต้องปรับจาก รพช. เป็น รพท. โดยในส่วนของตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องมีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ตามมาด้วย ซึ่งทั้งหมดได้รับการอนุมัติ ยกเว้นตำแหน่งผู้อำนวยการสูง รพ.บึงกาฬ และต้องมาดำเนินการขอขยับตำแหน่งกับ รพ.กระทุ่มแบน มองว่าเป็นเรื่องที่ตลกกว่า และการดำเนินการของ ก.พ.ในเรื่องนี้ใช้เวลานานเกินไป ใช้เวลาถึง 3 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

ทั้งนี้การที่ ก.พ.ยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์พิจารณาตำแหน่งผู้อำนวยการสูงนั้น มีผลกระทบ 2 ตำแหน่งคือ ผอ.รพ. และ รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร ส่งผลให้การปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งรวมถึงความก้าวหน้าจะช้าหมด เนื่องจากต้องมีการตีความตำแหน่ง ทำให้ในการสมัครอบรม หรือจะสมัครในตำแหน่งก้าวหน้าใดๆ ต้องมีการตีความว่าสามารถสมัครได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีที่เป็นภายในกระทรวงสาธารณสุขจะไม่เป็นปัญหา เพราะใช้วิธีการบริหารภายในได้ แต่ในกรณีการสมัครสอบยังหน่วยงานนอก สธ.อย่าง ก.พ.เองก็จะเป็นปัญหา ทำให้เสียสิทธิ์ต่างๆ   

ต่อข้อซักถามว่า ในช่วงที่ยังรอการปรับตำแหน่งผู้อำนวยการสูง ในส่วนของเงินเดือนและค่าตอบแทนใช้หลักเกณฑ์ใด นพ.โชคชัย กล่าวว่า ใช้หลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนเช่นเดียวกับ รพท. แม้ว่าเงินที่ได้รับน้อยกว่า รวมถึงในส่วนของตนเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาและมีปัญหาร้องเรียนในภายหลัง ซึ่งยอมรับว่าในส่วนของค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่เคยได้รับเดือนหนึ่งหายไปมากพอควร ขณะที่เงินเดือนต่างกันไม่มาก ต่างกันเพียงแค่เงินประจำตำแหน่ง 200 บาทเท่านั้น

นพ.โชคชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนค่าตอบแทนนั้น ถ้ามองรายบุคคลเป็นการเสียสิทธิ์ประโยชน์ส่วนตัว แต่หากมองในภาพรวมของหน่วยงาน ซึ่ง รพ.กระทุ่มแบน ก่อนปรับเป็น รพท. ได้มีการทำประชาคมเพื่อพูดคุยกันก่อน ซึ่งเห็นตรงกันว่า หากเราขยับเป็น รพท. น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ รพ. และชุมชนมากว่า ดังนั้นสิทธิส่วนตัวที่เสียไปนั้นยอมรับได้ ปัจจุบัน รพ.กระทุ่มแบน มีเตียงผู้ป่วย 250 เตียง บุคลากรซึ่งเป็นข้าราชการ 280 คน และลูกจ้างชั่วคราวอีก 300 คน

“การที่ รพ.ขยับจาก รพช.เป็น รพท. ได้แสดงถึงศักยภาพอยู่ หลายๆ รพ.ในแง่ความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นในแง่งบประมาณ ในแง่บุคลากร และการดูแลรับผิดชอบประชากรบางครั้งใหญ่กว่ากรม ปีหนึ่ง รพ.เหล่านี้อาจใช้งบประมาณ 400-500 ล้าน มีบุคลากร 300-600 คน ปัจจัยเหล่านี้แทบไม่ต้องคำนึงว่าเหมาะสมหรือไม่ ควรอนุมัติให้หรือไม่ให้ตำแหน่ง ซึ่งการพิจารณาของ ก.พ.ไม่คิดว่าจะใช้เวลายาวนานขนาดนี้” ผอ.รพ.กระทุ่มแบน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม อกพ.ก.พ. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้นได้มีการเตรียมเสนอหลักเกณฑ์ตำแหน่งผู้อำนวยการสูงเข้าสู่วาระการพิจารณา แต่ปรากฎว่าวาระดังกล่าวได้ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากมีการขอข้อมูลมายัง สธ.เพิ่มเติม ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน ก.พ. เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดข้อมูลขอเพิ่มเติม รวมถึงความคืบหน้าการดำเนินการ แต่ได้รับการปฏิเสธโดยระบุแต่เพียงว่าจะให้ข้อมูลเฉพาะกับทางหน่วยงานต้นสังกัดเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง