ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : รองเลขาธิการอย.ย้ำ 4 มาตรการคุมแอปเปิลนำเข้า ด้าน มกอช. ลงพื้นที่โมเดิร์นเทรด สุ่มเก็บตัวอย่างตรวจ

กรณีที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอฟดีเอ) แจ้งการเรียกคืนสินค้าของบริษัท ไบดาร์ต บราเธอส์ (Bidart Bros.) ได้แก่ แอปเปิลพันธุ์กาล่า ภายใต้เครื่องหมายการค้าบิ๊กบี (Big B) และแอปเปิลพันธุ์แกรนนี่สมิธ ภายใต้เครื่องหมายการค้าบิ๊กบี หรือแกรนนี่ เบสต์ (Grannys Best) เนื่องจากสินค้าทั้งสองรายการมีการปนเปื้อนเชื้อลิสเทริโอซิส (Listeriosis) เป็นอันตรายต่อเด็กแรกเกิด หญิงมีครรภ์ และคนชรา หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง      

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.มี 4 มาตรการในการดำเนินการ โดยการตรวจสอบตามด่านของ อย.และกรมวิชาการเกษตร ประกอบด้วย 1.กรณีนำเข้าแอปเปิลทั้ง 2 สายพันธุ์ ยี่ห้อบิ๊กบีและ แกรนนี่ เบสต์ ของบริษัทตามที่สหรัฐ แจ้งไว้นั้น จะต้องอายัดสินค้าไว้เพื่อตรวจหาเชื้อลิสเทริโอซิสที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน หากไม่พบเชื้อจึงจะปล่อยให้จำหน่ายได้ 2.ในกรณีเป็นแอปเปิล 2 สายพันธุ์ที่นำเข้าจากสหรัฐ แต่ไม่ใช่ยี่ห้อบิ๊กบีและแกรนนี่ เบสต์ ไม่ได้สั่งอายัดตามกฎหมาย แต่จะขอความร่วมมือจากบริษัทนำเข้าว่าอย่าเพิ่งกระจายสินค้า จนกว่าจะมีการตรวจหาเชื้อโรคแล้วเสร็จ ใช้เวลา 4-5 วันเช่นกัน 3.ดำเนินการตรวจสอบหาเชื้อโรคในแอปเปิลทุกสายพันธุ์ ทุกยี่ห้อ จากทุกประเทศที่นำเข้ามาในประเทศไทยแต่ไม่ได้อายัดสินค้าไว้ และ 4.หากเป็นสินค้าที่ตรงกับสหรัฐแจ้งมาให้ตีกลับคืนทันที

"ขณะนี้ด่านที่มีการตรวจเข้มที่สุดของ อย.มี 3 แห่ง คือ ด่านท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย และลาดกระบัง ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้มาก เบื้องต้นที่แหลมฉบังมี 2 ตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้า โดยตู้แรกไม่เกี่ยวข้องกับที่สหรัฐแจ้ง กำลังรอปล่อยให้จำหน่าย ส่วนอีกตู้หนึ่งเป็นสายพันธุ์แกรนนี่สมิธ แต่ไม่ใช่ยี่ห้อบิ๊กบีและ แกรนนี่ เบสต์ ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายต้องคุมเข้มตามมาตรการที่ 2 อย่างไรก็ตาม ตามท้องตลาดยังไม่มีสินค้านี้เข้ามาในประเทศไทย ประชาชนสามารถซื้อมารับประทานได้ แต่ขอให้ล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง" ภก.ประพนธ์กล่าว

นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีบริษัทที่นำเข้ามา 6 ราย ได้แก่ Fiesta Fruit, Inc, MB Fresh International, Paramount Export Co., United Fruits Corp., Voita Citrus และ Dovex Export Company การตรวจพบที่สหรัฐเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งแอปเปิลที่ส่งออกมายังประเทศไทยใช้การขนส่งทางเรือและใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะมาถึงไทยประมาณเดือนมกราคมนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีสินค้าของบริษัท Paramount Export Co. ที่เดินทางมาถึงแล้ว 2 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักประมาณ 19 ตัน ซึ่งมีแอปเปิลพันธุ์แกรนนี่สมิธมากกว่า 1 ตัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้กักสินค้าเหล่านี้ไว้แล้วที่ท่าเรือแหลมฉบัง เบื้องต้นพบว่าเป็นแอปเปิลสายพันธุ์ แกรนนี่สมิธ แต่เครื่องหมายการค้าไม่ใช่บิ๊กบีหรือแกรนนี่ เบสต์ อย่างไรก็ตาม ทางกรมวิชาการเกษตรก็ได้สุ่มเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบแล้ว

"ได้มีการตรวจสอบการนำเข้าแอปเปิลทั้ง 2 รายการอย่างเข้มงวด และที่เฝ้าระวังในระยะ 3 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ที่คาดว่าจะมีการส่งแอปเปิลมายังไทย โดยจะมีการตรวจพิเศษ 100% ขณะนี้พบว่ายังไม่มีการนำเข้าที่คาดว่าจะปนเปื้อนเชื้อลิสเทริโอซิสเข้ามาจำหน่ายในไทยแต่อย่างใด โดยหลังจาก 3 เดือน ก็จะยังมีการเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง" นายวิมลกล่าว

นายวิมล กล่าวว่า ได้ประสานงานไปยังสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อลงพื้นที่ตลาดและโมเดิร์นเทรดต่างๆ เพื่อเก็บตัวอย่างและสุ่มตรวจแอปเปิลสายพันธุ์ดังกล่าวด้วย

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช.ได้ลงพื้นที่โมเดิร์นเทรดต่างๆ และสุ่มเก็บตัวอย่างแอปเปิลนำเข้า 10 ตัวอย่าง เพื่อนำ มาตรวจหาการปนเปื้อนเชื้อลิสเทริโอซิส พร้อมกันนี้ได้ตรวจการปนเปื้อนสารตกค้าง อื่นๆ ในแอปเปิลด้วย นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ลงพื้นที่ตรวจโมเดิร์นเทรด เบื้องต้นจะลงพื้นที่เทสโก้ โลตัส สาขารัตนาธิเบศร์ บริเวณสี่แยกแคราย พร้อมแถลงข่าวในวันที่ 19 มกราคม เวลาประมาณ 11.00 น.

"ขณะนี้เท่าที่ตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการนำเข้าแอปเปิลที่คาดว่าจะปนเปื้อนเชื้อลิสเทริโอซิสมาจำหน่ายในไทย ขอแจ้ง ไปยังผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลในการซื้อแอปเปิลมาบริโภค" นายศักดิ์ชัยกล่าว

ที่ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ตลาดจำหน่ายแอปเปิลที่ อ.หาดใหญ่ โดยเฉพาะตลาดกิมหยง พบว่าแอปเปิลที่วางจำหน่ายเป็นแอปเปิลที่นำเข้ามาจากอเมริกา แต่เป็นคนละชนิดกับแอปเปิลที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย และเป็นแอปเปิลที่นำเข้าจากแอฟริกาและจีน เป็นคนละเครื่องหมายการค้ากับที่ห้ามบริโภค จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัย

ผู้ค้ารายหนึ่งกล่าวว่า กระแสข่าวแอปเปิลปนเปื้อนแบคทีเรียยังไม่ส่งผล กระทบต่อตลาดแอปเปิล อ.หาดใหญ่แต่อย่างใด ปัจจุบันยังคงมีประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวมาซื้อไปรับประทานตามปกติ โดยไม่มีความตื่นตระหนกจนถึงขั้นเลิกซื้อหรือเลิกกินแต่อย่างใด

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 มกราคม 2558