ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยข้อมูลคนพิการในไทยกว่า 1.6 ล้านราย จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพผู้จัดการด้านการดูแลสุขภาพคนพิการ การให้ความรู้ พัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพคนพิการ ให้สามารถจัดทำแผนการดูแลสุขภาพคนพิการระดับจังหวัด

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถิติสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.) พบผู้พิการในประเทศไทยกว่า 1,634,560 ราย ซึ่งลักษณะความพิการ มีความหลากหลาย ทั้งประเภทและระดับความพิการ ทำให้การดูแลมีความซับซ้อน คนพิการแต่ละคนมีความต้องการ ความจำเป็นด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน และภายหลังการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องการคำแนะนำ การส่งต่อ เพื่อรับบริการด้านสังคม การศึกษาและการประกอบอาชีพ ฯลฯ การดำเนินงานด้านการดูแลสุขภาพคนพิการจึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ทักษะเฉพาะรวมถึงการประสานเชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 20 ซึ่งกำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ โดยมีเจตนารมณ์มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบบริการ กำกับ ติดตาม กลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ ได้เล็งเห็นความสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์การดูแลสุขภาพคนพิการ พ.ศ.2555-2559 จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ผู้ปฎิบัติในระดับจังหวัด โดยให้กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรผู้รับผิดชอบด้านคนพิการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/โรงพยาบาล/เขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการด้านการดูแลสุขภาพคนพิการ (Project Manager) เป็นตัวกลางเชื่อมประสานนโยบายสู่การปฏิบัติ บริหารจัดการฐานข้อมูล ทรัพยากรในชุมชน ตลอดจนประสานงาน กำกับ ติดตามและประเมินผลในระดับจังหวัดอย่างเป็นระบบ เข้าถึงความต้องการของคนพิการอย่างแท้จริง

โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าว ผ่านกระบวนงานพัฒนาระบบการดูแลคนพิการทางการเคลื่อนไหว (ขาขาด)และต่อยอดขยายการบริการ ให้ครอบคลุมทุกประเภทความพิการ โดยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานพัฒนาศักยภาพผู้จัดการคนพิการ จึงได้จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพผู้จัดการด้านการดูแลสุขภาพคนพิการ การให้ความรู้ พัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพคนพิการ ให้สามารถจัดทำแผนการดูแลสุขภาพคนพิการระดับจังหวัด สอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายต่างๆ ได้ พร้อมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อคิดเห็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประสานความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อดำเนินงานด้านสุขภาพคนพิการในอนาคต

สิ่งสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่ของผู้พิการคือ กำลังใจ การให้โอกาส เพื่อเข้าสังคมและเรียนรู้สิ่งต่างๆ พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมต่างๆกับคนทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาทักษะ การสื่อสาร การสร้างเสริมมนุษยสัมพันธ์ และการอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมอย่างปกติสุข