ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์เผยตัวเลขผู้ติดยาปี 2557 ยาบ้าครองแชมป์สูงสุด ส่วนใหญ่พบในผู้ว่างงาน เพื่อนชวน และอยากลอง พร้อมเปิดตัวหลักสูตรการบำบัดรักษายาเสพติดแบบสากล เพื่อยกระดับมาตรฐานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถิติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ปี 2557 พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 7,071 ราย แบ่งเป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 84.84 เพศหญิงร้อยละ 15.16 มีอายุช่วง 30-34 ปี มากที่สุด จำนวน 1,239 คน คิดเป็นร้อยละ17.52 ส่วนใหญ่พบในผู้ว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 39.97 และยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือยาบ้า คิดเป็นร้อยละ 52.93 สาเหตุที่เสพยามากที่สุด เพื่อนชวนเสพยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 53.53 รองลงมาคืออยากทดลองเสพยา คิดเป็นร้อยละ 38.76 

จะเห็นได้ว่า ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาสำคัญต่อประชาชนไทยและประชาคมโลกมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และระดมพลังแผ่นดินทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไข ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม และการบำบัดรักษา ซึ่งในปี  2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ย่อมมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด เนื่องจากมีผลต่อการย้ายถิ่นฐานของประชากร สภาพสังคม วัฒนธรรม ภาวะเศรษฐกิจ การเมืองที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลต่อปัญหายาเสพติด จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมวางแผนเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม และโดยเฉพาะการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  

กรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ด้านการพัฒนาวิชาการการบำบัดรักษายาเสพติด จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อจัดการอบรมหลักสูตรการบำบัดรักษายาเสพติดแบบสากลระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์นานาชาติเพื่อการรับรองและการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านการติดยาเสพติด แผนโคลัมโบ (ICCE) และสถาบันธัญญารักษ์ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งจากประเทศไทย  ประเทศอาเซียนรวมถึงประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาวิชาการ สร้างผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษายาเสพติด เทียบเท่าระดับสากล ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และนำความรู้และทักษะไปใช้ในการปฏิบัติงานดูแลบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติดอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพและมีความเท่าเทียมให้กลับเป็นคนดีของสังคมและกำลังในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์ และศูนย์นานาชาติเพื่อการรับรองและการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านการติดยาเสพติด แผนโคลัมโบ เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในภูมิภาคอาเซียน  จึงได้จัดทำโครงการอบรมหลักสูตรการบำบัดรักษายาเสพติดแบบสากลระดับพื้นฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ เพิ่มองค์ความรู้ และฝึกทักษะให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้บุคลากรที่ดูแล บำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดมีความเชี่ยวชาญให้มีมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล

การอบรมครั้งนี้ประกอบด้วย 8 หลักสูตรคือ 1.หลักสูตรสรีรวิทยาและเภสัชวิทยา 2.การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและการดูแลต่อเนื่อง 3.โรคร่วมทางจิตเวชและความผิดปกติด้านการแพทย์ 4.ทักษะการให้คำปรึกษาพื้นฐานสำหรับวิชาชีพด้านยาเสพติด 5.การคัดกรอง การประเมิน การวางแผนการบำบัดรักษา และกระบวนการเอกสารทางการแพทย์ 6.การบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยแบบรายตัว 7.การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดภาวะวิกฤต 8.จริยธรรมในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมคือบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากประเทศไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และภูฏาน โดยลักษณะการฝึกอบรมเป็นการบรรยายและการฝึกปฏิบัติตลอดหลักสูตร โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์นานาชาติเพื่อการรับรองและการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านการติดยาเสพติด แผนโคลัมโบ (ICCE) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพการบำบัดรักษาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการและด้านการบำบัดรักษายาเสพติดระดับสากลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศไทยและประเทศอาเซียน