ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ในอดีตผมเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่เกิดในประเทศไทย ครอบครัวเป็นชาวเขาเผ่าอาข่า ผมไม่ได้รับสัญชาติไทย ตอนเด็กเราไม่รู้หรอกว่า การไม่มีสัญชาติจะสร้างปัญหาอะไรให้กับเรา พอโตขึ้นเมื่อจะศึกษาต่อในขั้นที่สูงขึ้นไม่สามารถเรียนได้ เพราะเราเป็นคนไม่มีสัญชาติ โชคดีที่คนที่เขาให้ทุนการศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซียแนะนำผมว่า ให้ขอสัญชาติให้ และต้องวิ่งหาคนที่เขาทำงานเกี่ยวกับเรื่องการของสัญชาติโดยตรง”

นายปิยะเดช เชิงพิทักษ์กุล นายก อบต.แม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เล่าถึงที่มาของการได้มาซึ่งสัญชาติไทย ซึ่งในขณะนั้นเขาได้เพียงแค่บัตรสีฟ้า คือเป็นคนไร้สัญชาติ เมื่อไม่ได้เรียน จึงหันไปเรียนภาษาจีน และยื่นเรื่องการขอสัญชาติควบคู่กันไปตามคำแนะของผู้ให้ทุน และนับว่าตนเองเป็นคนโชคดี เนื่องจากตอนเรียนเป็นนักเรียนที่เรียนดี มีเกียรติบัตร เป็นใบเบิกทางให้การขอสัญชาติไม่ยากเหมือนคนอื่น จนกระทั่งอายุประมาณ 21 ปี ถึงได้สัญชาติไทย หมดเงินไปหลักหมื่นสำหรับการยื่นเรื่องขอสัญชาติ และตอนนี้คนในครอบครัวเป็นคนมีสัญชาติไทยครบกันหมดทุกคน และได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี และกำลังต่อปริญญาโท และกลับมาทำงานเป็นนายก อบต.ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง

จากกรณีของ นายก อบต.แม่สลองใน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนไทยบนพื้นที่สูงกับการขอสัญชาติไทย และมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ทุกวันนี้ยังไม่สัญชาติ ทั้งๆ ที่พวกเขามีพ่อแม่เป็นคนไทย เกิดในประเทศไทย

เรื่องของการพิสูจน์สัญชาติ อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญของคนพื้นราบ แต่การพิสูจน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อคนไทยในพื้นที่สูง เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ  การที่รัฐได้รับรองว่าพวกเขาคือคนไทยโดยสมบูรณ์นั้น เท่ากับเป็นการคืนสิทธิทางการรักษาพยาบาลและศึกษาต่อ ซึ่งจะเป็นการคืนความสุขและโอกาสที่ดีให้กับชนกลุ่มน้อย

ที่ผ่านมา มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จังหวัดเชียงราย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ 37 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย และสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลให้กลุ่มคนไทยไร้สถานะ และเสนอตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า คนไทยไร้สถานะ หรือที่เรียกตามกฎหมายว่า “ผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” คือกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะ หรือไร้สัญชาติและสิทธิ ประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นประชากรในพื้นที่สูง ตามแนวชายแดน หรือแม้กระทั่งในชุมชนแออัดที่ตกหล่นจากการสำรวจทะเบียนราษฎร์ ซึ่งคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เป็นที่น่าสังเกตว่ากระทรวงศึกษาธิการให้สิทธิกับเด็กทุกคนที่มีและไม่มีสัญชาติได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน แต่เรื่องของการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขพวกเขาเหล่านี้กลับไม่ได้สิทธิดังกล่าวเท่าที่ควรจะได้ ทั้งที่ได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มี.ค.53 ได้ให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับกลุ่มคนที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ จำนวน 457,409 คน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลคนกลุ่มนี้ ในปัจจุบันลดลงเหลือ 416,648 คน เนื่องจากผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกหล่นการสำรวจ จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิสุขภาพของคนกลุ่มนี้ตามหลักมนุษยธรรม” นางเตือนใจ กล่าว

นอกจากนี้ การเปิดอาเซียน หรือ AEC ในปี 59 การข้ามแดนของแรงงานต่างชาติที่ถูกและไม่ถูกกฎหมายจะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันมนุษย์ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ ดังนั้นโรงพยาบาลจำเป็นต้องได้รับงบประมาณที่ดี เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และผู้ป่วยต้องไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล เรามัวแต่ตื่นตัวด้านเศรษฐกิจ แต่ด้านวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมกลับไม่มีใครพูดถึง นางเตือนใจ กล่าว

นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือ กลุ่มคนจำนวน 208,631 คน เป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ 1) กลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร์ ทร.38 ก โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ 9 (0-xxxx-89xxx-xx-x) ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติในกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอยู่ไทยเป็นเวลานาน แต่ตกสำรวจ จำนวน 150,076 คน 2) กลุ่มบุตรของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่เกิดในประเทศไทยและได้รับการแจ้งเกิด มีสูติบัตร ได้เลข 13 หลักเป็นบุคคลประเภท 0 (บุตรของกลุ่มที่ 1) จำนวน 56,672 ราย และ 3) กลุ่มคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะเกิดซึ่งนายทะเบียนได้จัดทำประวัติให้เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0 โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 0 และ 0 (0-xxxx-00xxx-xx-x) จำนวน 1,883 คน

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า งบประมาณปี 58 ซึ่งทางเครือข่ายเสนอให้เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.58 นี้ จะใช้งบเพิ่มเพียง 220.5 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบและเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าครม.ต่อไปนอกจากนี้ ยังเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน ตั้งแต่ 1 เม.ย.58 เพื่อดูแลกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข 1.5 ล้านคน โดยให้ได้รับเท่ากับงบส่งเสริมป้องกันโรคของผู้มีสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทฯ คือ 383.61 บาทต่อคน รวมเป็นเงิน 161.5 ล้านบาท เพื่อให้ รพ.รัฐใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ให้แพร่เข้าสู่ประเทศไทยต่อไป

“เป็นที่สังเกตว่า รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร มักจะให้ความสำคัญเรื่องของการขอสัญชาติมากกว่ารัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้ง ที่ส่วนมากมุ่งไปในเรื่องของเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนที่การขอสัญชาติในไทยล่าช้า ตนสรุปได้ว่า มาจากนโยบายหลัก ที่ติดในเงื่อนไขต่างๆ ระเบียบที่ปิดไม่ยืดหยุ่น และเพื่อการทำงานที่รวดเร็วควรให้สิทธิพื้นที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการอนุมัติการให้สัญชาติ” นายวิวัฒน์ กล่าว

ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในวันนี้ยังมีเด็กเกิดใหม่อีกจำนวนหนึ่งที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย เนื่องจากเด็กคนนั้นไม่ได้เกิดในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน หรือเกิดที่บ้าน และผู้ปกครองขาดความใส่ใจที่จะไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นคนไร้สัญชาติ หรืออีกเหตุผลหนึ่งที่คนไม่ยอมไปขอสัญชาติ เนื่องจากการเดินทางที่ไม่สะดวก มีค่าใช่จ่ายสูง และใช้เวลาในการพิสูจน์สัญชาตินาน

การคืนสิทธิและให้สัญชาติ แก่กลุ่มคนไทยไร้สถานะยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ การให้สัญชาติจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ต้องรอการพิสูจน์เพื่อให้เกิดความถูกก่อนที่จะมีการอนุมัติ แต่ในทางกลับกัน หากภาครัฐมีการทำงานที่รวดเร็วและคล่องตัว คำนึงถึงสิทธิของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน ให้มากกว่าที่เป็นในปัจจุบันจะเท่ากับเป็นการคืนสิทธิ คืนสัญชาติ  และคืนความสุขให้กับประชาชน(ไร้สัญชาติ)อย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง