ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นน่าจับตามองของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กล่าวคือ คนที่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยแต่ยังไม่ได้บัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากข้อมูลการพิสูจน์สถานะบุคคลยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลต่อสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาล แม้โรงพยาบาลจะรับรักษา แต่จุดหนึ่งมองว่าควรได้รับสิทธิที่แท้จริงอย่างเป็นระบบ เพราะต้องเข้าใจว่า 1.โรงพยาบาลคงแบกรับการรักษาตลอดไม่ไหว ขณะที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติก็ยังเข้ามารักษาในไทย ซึ่งแน่นอนว่าแพทย์ไม่มีสิทธิปฏิเสธคนไข้ และ 2.แม้กลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจะจัดเป็นคนไทย แต่หากไม่มีสถานะยืนยัน การเดินทางไปไหนย่อมมีผลกระทบ เพราะอาจถูกจับกุมได้ง่าย ยิ่งการเดินทางไปนอกเขตพื้นที่ที่คุ้นเคยแล้ว

ด้วยเหตุนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงอนุมัติให้กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกว่า 4 แสนคน เข้ากองทุนคืนสิทธิในการรักษาพยาบาลคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ดูแล แต่ปัญหาคือยังมีคนกลุ่มนี้อีกมาก ล่าสุดมาถึงรัฐบาลยุคนี้ โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วย สธ. เรียกประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเครือข่ายแพทย์ชายแดนและเครือข่าย ชนเผ่าพื้นเมืองในการหารือแก้ปัญหาดังกล่าว จนมีข่าวออกมาว่า สธ.เตรียมจะขอ ครม.ในการขยายกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะเพิ่มเติมอีก 170,535 คน เพื่อขอเข้ากองทุนดังกล่าวอีก

แทนที่จะเป็นเรื่องดี ปรากฏว่าทางกลุ่มเอ็นจีโอที่ดูแลเรื่องนี้กลับเห็นต่างและออกแถลงการณ์ พร้อมเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า สธ.จัดทำตัวเลขคลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงแล้วต้องขอเพิ่มจำนวนเป็น 208,631 คน ไม่ใช่ตัวเลขที่ สธ.เสนอ หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้มีคนตกหล่นถึง 3.8 หมื่นคน กลายเป็นคนไร้สิทธิและสถานะทันที

แม้เรื่องดังกล่าว นพ.สมศักดิ์ จะออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่ได้เป็นตัวเลขสิ้นสุด และจะมีการประชุมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สำนักงานปลัด สธ. โดยขอเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันได้ แต่ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย นำโดยนายวิวัฒน์ ตามี่ กองเลขานุการเครือข่ายฯ ปฏิเสธเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่าเป็นการประชุมเรื่องยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งไม่ได้พูดถึงตัวเลขของคนกลุ่มนี้เลย เป็นคนละประเด็น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 37 องค์กรสาธารณสุข อาทิ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ขอย้ำให้ สธ.เสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะให้ได้รับ สิทธิรักษาพยาบาลเพิ่มเติมตามตัวเลขจริง โดยไม่ต้องรอเสนอพร้อมแผนยุทธศาสตร์ เพราะจะทำให้ทุกอย่างช้า

นายวิวัฒน์เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องออกแถลงการณ์ย้ำข้อเรียกร้องอีกครั้ง เนื่องจากกังวลว่า นพ.สมศักดิ์จะละเลยข้อเสนอของภาคประชาชน ซึ่ง 37 องค์กรสาธารณสุขมีข้อเรียกร้องว่า ขอให้ที่ประชุม 23 กุมภาพันธ์ ปลดปล่อยคนไร้สถานะ 208,631 คน ที่ขณะนี้มีสภาพเหมือนตัวประกันให้เป็นอิสระ อย่ามัวแต่เล่นเกมเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของใครบางกลุ่มอยู่เลย นี่คือชีวิตมนุษย์จริงๆ หากยื้อเวลานานวันออกไป ผู้ป่วยไตไร้สิทธิรักษาที่รอฟอกไตเสียชีวิต ใครจะรับผิดชอบ การปลดปล่อยให้เป็นอิสระเท่ากับการสร้างมหากุศล การชะลอการยื่นให้ ครม.พิจารณา โดยอ้างว่าจะเสนอพร้อมแผนยุทธศาสตร์นั้น 37 องค์กรสาธารณสุขไม่เห็นด้วย เท่ากับเป็นการซื้อเวลาเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของใครเพียงไม่กี่คน

"เพียงแค่แยกนำเสนอระหว่างข้อเสนอกองทุนคืนสิทธิของภาคประชาชนกับยุทธศาสตร์ฯของ นพ.สมศักดิ์นั้น ผมยังไม่เข้าใจว่าจะมีความเสียหายตรงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เหมือนไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาของคนชายขอบ ไม่ให้น้ำหนักกับข้อมูลของภาคประชาชน การประชุมวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ อยากให้ได้ข้อสรุปแล้วเดินหน้าเลย มีการพูดคุยหลายครั้ง แต่ทุกครั้งรัฐมนตรีช่วย สธ.ไม่เคยรับฟังข้อเสนอของเครือข่ายชนเผ่าฯและ 37 องค์กรเลย ยังคงดึงดันที่จะทำตามที่ต้องการ แต่ไม่คำนึงถึงชีวิตคนป่วยที่ไม่มีสิทธิรักษาที่ต้องรอคอยการรักษาอยู่ ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ นพ.สมศักดิ์ใส่ใจประเด็นนี้ และดำเนินการเสนอให้ ครม.พิจารณาให้คนเหล่านี้ได้สิทธิรักษาพยาบาลได้แล้ว" นายวิวัฒน์กล่าว

เข้าใจว่าต่างคนต่างหวังดี เพียงแต่ขอให้เปิดใจคุยกันจริงๆ ดีกว่า เพราะคนกลุ่มนี้ รอการช่วยเหลืออยู่...

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : warunee11@yahoo.com

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558