ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : 'ยงยุทธ' ตั้งปลัดพาณิชย์สอบปลด 'ปลัด สธ.'  รพ.ทั่วประเทศนัดแต่งดำขึ้นป้ายหนุนต้านถึงสิ้นเดือน ทหารขอร้อง สสจ.อ่างทองปลดป้ายต้านเด้งปลัด ส่วนดีเอสไอพบความผิดปกติเงินส่วนลดซื้อยาของ สปสช.

กรณีนายกรัฐมนตรีสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรีระหว่างรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีไม่สนองตอบนโยบายรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการ สธ. จนส่งผลให้บุคลากรในโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทุกระดับพร้อมใจแต่งดำ และขึ้นป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรม ขณะเดียวกัน ร้องขอให้นายกฯเร่งรัดให้คณะกรรมการชุดต่างๆ สรุปผลสอบสวนภายใน 30 วันนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานบรรยากาศการนัดแต่งดำของบุคลากรสาธารณสุขตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ได้มีการพร้อมใจขึ้นป้ายเพื่อให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ อาทิ โรงพยาบาล (รพ.) ปทุมธานี จ.ปทุมธานี รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี รพ.สุรินทร์ จ.สุรินทร์ รพ.แพร่ จ.แพร่ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ รพ.แม่สอด จ.ตาก ฯลฯ ซึ่งได้มีการโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก "เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข" ส่วนเนื้อหาป้ายให้กำลังใจปลัด สธ. อาทิ "เราจะสานต่องานและเป็นกำลังใจให้ท่าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" "ถ้าประเทศไทยไม่มีธรรมาภิบาล ข้าราชการและประชาชนจะอยู่อย่างไร" เป็นต้น

ยันยื่นหนังสือ'บิ๊กตู่'สัปดาห์นี้

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ขณะนี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มมีการแต่งชุดดำและขึ้นป้ายกันแล้ว โดยการแต่งชุดดำนั้น เพื่อไว้อาลัยที่ สธ.ไม่มีธรรมาภิบาล และไว้อาลัยในตัวของรัฐมนตรีว่าการ สธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.ที่ทั้ง 2 คน ได้ตายไปจากหัวใจชาวสาธารณสุขแล้ว และกระทำกับชาวสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม สำหรับการร่างหนังสือเพื่อยื่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น ยังติดอยู่ที่เนื้อหา แต่ภายในสัปดาห์นี้จะสามารถยื่นหนังสือได้แน่นอน

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำ รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวว่า บุคลากรในโรงพยาบาลจะแต่งชุดดำจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้

ทหารสั่งสสจ.อ่างทองปลดป้าย

นพ.ทรงวุฒิ หุตามัย นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) อ่างทอง กล่าวว่า ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ขึ้นป้ายเขียนว่า "จะสานต่องาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" และ "ถ้าประเทศไทย ไม่มีธรรมาภิบาล แล้วข้าราชการและประชาชนจะอยู่อย่างไร" เพื่อเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อการย้าย นพ.ณรงค์ และสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐมนตรีและคณะทำนั้นไม่ถูกต้อง โดย รพ.อ่างทองก็ได้ขึ้นป้ายแบบเดียวกัน ซึ่งได้นำป้ายขึ้นเวลา 09.00 น. ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ทหาร 10 นาย ได้เดินทางมาที่ สสจ.อ่างทอง และขอร้องให้นำป้ายลง จึงได้เชิญนายทหารที่เดินทางมาพูดคุยกันในห้องประชุมและเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย จึงได้นำป้ายลงและมอบให้เจ้าหน้าที่ทหารไป อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ก็ยืนยันว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นเพียงการสะท้อนความรู้สึกของข้าราชการ ไม่ได้มีการต่อต้านรัฐบาลแต่อย่างใด

'หมอรัชตะ' เรียกอธิบดีร่วมหารือ

ทางด้าน นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. หลังกลับจากประเทศญี่ปุ่น เวลา 17.00 น. วันเดียวกัน ได้เดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า นพ.รัชตะเตรียมตัวเดินทางต่อไปยังโรงแรมพักพิง อิงทาง จ.นนทบุรี เพื่อร่วมรับประทานอาหารเย็นและประชุมหารือกับคณะผู้บริหาร และอธิบดีกรมต่างๆ ใน สธ.

ทั้งนี้ นพ.รัชตะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีบุคลากรสาธารณสุขแต่งดำและขึ้นป้ายให้กำลังใจปลัด สธ.ว่า เรื่องนี้เคยสื่อสารไปแล้ว และขอความร่วมมือว่า การกระทำอะไรขออย่าให้กระทบกับการบริการประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการทำหนังสือห้ามปรามการกระทำดังกล่าวหรือไม่ แต่ นพ.รัชตะไม่ตอบ เดินเข้าลิฟต์ไปห้องทำงานทันที

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทราบว่า นพ.ณรงค์ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แล้ว ทั้งนี้ มอบหมายให้มาช่วยงานวิชาการ ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพแห่งชาติ

'หมอวิชัย' ถามป.ป.ท.มีอำนาจอะไร

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบ สปสช.ตามข้อร้องเรียน อาทิ การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การจ่ายเบี้ยประชุมจำนวนมาก และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่มีประสิทธิภาพ ว่าต้องตั้งคำถามว่า ป.ป.ท.มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ สปสช.หรือไม่ เพราะการตรวจสอบ สปสช.เป็นอำนาจโดยตรงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

"ต้องทำให้ชัดเจน กรรมการ สปสช.ยินดีให้ตรวจสอบทั้งหมด เพราะมีระเบียบรองรับ และทำงานมีขั้นตอน ตรวจสอบได้ เห็นได้จากที่ผ่านมา สตง.ได้มีการตรวจสอบทุกปี และได้เคยทักท้วง สปสช.กรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขา ว่าอาจมีการดำเนินการที่ผิดระเบียบหรือไม่ ตรงนี้ สปสช.มีการชี้แจงแล้วว่าเป็นความเข้าใจในเรื่องคำนิยามเงื่อนไขการใช้งบประมาณ ที่อาจแตกต่างกัน ซึ่ง สตง.ก็รับทราบ" นพ.วิชัยกล่าว

ชี้ 'หมอณรงค์' ขัดนโยบายรัฐมนตรี

"ผมว่าเรื่องการตรวจสอบก็ให้เป็นไปตามระบบ ทั้งในส่วน ป.ป.ท.สอบ สปสช. หรือแม้แต่คณะกรรมการที่รองนายกรัฐมนตรีตั้งมาตรวจสอบ นพ.ณรงค์ ซึ่งผมมองว่าการย้ายปลัด สธ.ไปทำงานที่สำนักนายกฯถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรทำมานานแล้ว เพราะเราต้องยอมรับว่าปัญหาที่ผ่านมาก็มาจาก นพ.ณรงค์ที่ไม่ยอมเดินหน้าตามนโยบายรัฐมนตรี และยังมีการดำเนินการที่ทำให้การทำงานต่างๆ ล่าช้า ยกตัวอย่างชัดเจนสุดคือ การออกหนังสือส่งมอบหน้าที่การขึ้นทะเบียนสิทธิ 30 บาทคืนให้ สปสช. ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลทั้งหมดทำมาตลอด สิ่งเหล่านี้หากปล่อยไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน สุดท้ายก็ต้องมาหารือและตกลงกันจนให้ดำเนินการตามเดิม ถามว่าเสียเวลาหรือไม่ แทนที่จะเอาเวลาไปเดินหน้างานอื่นๆ" กรรมการ สปสช.กล่าว และว่า นอกจากนี้ ในเรื่องแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนที่ปลัด สธ.ออกมาพูดเสมอนั้น รัฐมนตรีว่าการ สธ.เคยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธาน แต่ นพ.ณรงค์ไม่ให้ความร่วมมือ ให้เหตุผลไปเรื่อย สุดท้าย นพ.ยุทธต้องลาออก แบบนี้ชัดเจนคือขัดนโยบาย ไม่ให้ความร่วมมือ

ป.ป.ท.เผยมีอำนาจสอบ

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ป.ป.ท.อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการของ สปสช. เรื่องนี้ที่ ป.ป.ท.ต้องเข้าไปตรวจสอบเพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษีประชาชนจำนวนค่อนข้างสูง ต้องเรียกทุกฝ่ายมาสอบถามข้อมูล ชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกลุ่มหรือบุคคลใด ทั้งนี้ ป.ป.ท.จะเรียก นพ.ณรงค์มาชี้แจงด้วยเช่นกัน หากทาง สปสช.ชี้แจงข้อสงสัยได้เข้าใจ เคลียร์ทุกประเด็น มีหลักฐานเอกสาร ก็ถือว่าไม่มีความผิด ส่วนข้อโต้แย้งที่ระบุว่าไม่ได้ใช้งบประมาณสูงตามที่ปรากฏข้อมูลผ่านสื่อ เป็นเรื่องที่ทาง สปสช.ต้องชี้แจงอย่างเป็นทางการกับ ป.ป.ท.

'ยงยุทธ' ลงนามตั้งกก.สอบแล้ว

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ว่า ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหลายวันแล้ว โดยมี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการสอบสวนอีก 3-4 คน จากนอกวงการสาธารณสุข สำหรับประเด็นที่ให้สอบสวนเป็นเรื่องความทำงานที่ไม่ลงรอยกัน และเรื่องไม่ให้การร่วมมือหรือทำตามนโยบายของรัฐมนตรี รวมถึงเรื่องไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่ นพ.ณรงค์ได้ตั้งข้อกล่าวหาด้วย เพื่อให้มีความแน่ชัด เมื่อทราบผลแล้วจะดำเนินการตัดสินใจอย่างไรต่อไป ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องไม่ชอบมาพากลนั้นหมายถึงเรื่องการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ไม่ใช่ เป็นการสอบในสิ่งที่ นพ.ณรงค์ได้พูดกล่าวหาไว้ แต่ยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งข้าราชการประจำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องสอบสวน เพราะปลัดเป็นข้าราชการอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นต้องให้ความร่วมมือในการทำงาน

เผยชื่อชุดสอบ-ปลัดพณ.ประธาน

รายงานข่าวแจ้งว่า นายยงยุทธลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 70/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏข่าวว่าการปฏิบัติราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อสนองนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน, นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรรมการ, นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการและเลขานุการ, นายอุทัย ชาญ และนายสมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ดีเอสไอพบพิรุธเงินส่วนลด

แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายน 2556 สมัยนายประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยทำหนังสือมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบการใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากช่วงนั้นมีกลุ่มแพทย์ชนบทและเอ็นจีโอออกมาให้ข่าวว่าฝ่ายการเมืองสั่งการให้ สปสช.โอนเงินค่าส่วนลดที่ได้จากการสั่งซื้อวัคซีนและยาต้านไวรัสเอดส์จากองค์การเภสัชกรรม จำนวนกว่า 70 ล้านบาท ไปยังกระทรวงสาธารณสุข ครั้งนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบข้อมูลทาง สปสช.ที่จัดซื้อเวชภัณฑ์และวัสดุวิทยาศาสตร์ให้กับหน่วยบริการ คือ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดอื่น และองค์การเภสัชกรรมได้จัดสรรเงินส่วนต่างจากยอดซื้อให้กับ สปสช.เพื่อนำไปจัดสรรให้กับหน่วยบริการที่เบิกวัคซีน

แหล่งข่าวระบุอีกว่า แต่จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปี 2554 กลับพบว่า สปสช.มิได้ส่งเงินส่วนนี้ให้กับหน่วยบริการ แต่นำเงินไปจัดสรรให้กับกลุ่มบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนงานป้องกันโรคด้วยวัคซีน เมื่อมีการทักท้วงจาก สตง. ทาง สปสช.ได้ทำหนังสือมายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ทำหน้าที่จัดสรรยอดเงินให้กับสถานบริการสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าเงินส่วนลดจากองค์การเภสัชกรรมที่ สปสช.ได้รับมาหลายปี และนำไปจัดสรรให้กับบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ จึงเป็นการใช้เงินไม่น่าจะถูกต้อง ดังนั้นจึงขอให้ดีเอสไอเข้าไปสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง

ส่อผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า คณะทำงานสืบสวนได้สรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงส่งไปยัง นพ.ณรงค์ เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2556 สำหรับผลการตรวจสอบของดีเอสไอครั้งนั้นมีประเด็นเรื่องการจัดซื้อยาของ สปสช. ทางพนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ที่ระบุว่า สปสช.มีหน้าที่เพียงจ่ายค่าใช้จ่าย จ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ในการรักษาพยาบาลให้กับบุคคลที่เข้ารับการให้บริการสาธารณสุข อีกทั้งยังมีประเด็นการออกข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐ 2546 ที่ให้ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรมมีสิทธิได้รับส่วนลดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่องค์การเภสัชกรรมกำหนด และหลักเกณฑ์ได้นำเงื่อนไขเวลาการชำระหนี้ค่าผลิตภัณฑ์มากำหนดด้วยนั้นน่าจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากการจัดซื้อเป็นเงินงบประมาณต้องหาราคาที่เหมาะสม และหากมีส่วนลดกลับคืนอาจทำให้เห็นว่ามีการคิดราคาขายที่สูงเกินไป

นอกจากนี้ การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐไปใช้จ่ายเป็นเงินกองทุนสวัสดิการของสำนักงาน สปสช. ไม่ถูกต้อง ถึงแม้ สปสช.จะออกระเบียบ สปสช.ว่าด้วยการจัดสวัสดิการของสำนักงาน ให้มีการทำโครงการไปยังองค์การเภสัชกรรมเพื่อขอเงินดัง กล่าวก็ตาม เพราะเงินที่ได้มาเป็นเงินงบประมาณ ต้องใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ไม่ใช่นำมาเป็นเงินสวัสดิการสำนักงาน อีกทั้งในแต่ละปีงบประมาณ ทางคณะกรรมการ สปสช.เสนอขอรับงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเป็นค่าบริหารงานสำนักงานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเงิน 70 ล้านบาท ที่ทาง สปสช.จะโอนมายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสนับสุนนการดำเนินการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการทั่วประเทศนั้น ควรจะส่งกลับเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 มีนาคม 2558