ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบประกันสุขภาพและระบบบริการสุขภาพของอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น มีความแตกต่างกันชนิดคู่ตรงข้าม เริ่มตั้งแต่อุดมการณ์ของการจัดการระบบสุขภาพที่แตกต่างกัน ‘จิม เอ็ดวาร์ด’ ผู้ถือสัญชาติทั้ง สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ได้ลองเปรียบเทียบความแตกต่างของการใช้ระบบบริการสุขภาพจากทั้ง 2 ประเทศ ด้วยประสบการณ์จริงที่เขาต้องเผชิญ และระบุว่า นี่เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบสุขภาพจากคนไข้ที่ต่อสู้ดิ้นรนอย่างกล้าหาญเมื่อป่วยไข้ ท่ามกลางบริการสุขภาพที่มีเรื่องของทุน อุตสาหกรรมยา และความเชื่อตลาดเสรี ที่ปะทะกับประเด็นเรื่องความเป็นธรรม เพื่อให้ระบบสุขภาพมีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียม ต่อประชาชนมากที่สุด

Business Insider UK : ในชีวิตของผม ครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกครึ่งอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ดังนั้นผมจึงคุ้นเคยกับระบบสาธารณสุขของทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ย้ายกลับไปอยู่ที่ลอนดอนหลังจากอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามานานถึง 20 ปี และเมื่อมีโอกาสได้นัดพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ 2-3 ครั้ง ผมจึงได้วิเคราะห์ระบบสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษหรือ NHS ผ่านมุมมองของตนเองในฐานะที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกามานานหลายปี   

บริการสุขภาพแห่งชาติ คือระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลรับหน้าที่บริหารและดำเนินงานเองทั้งหมด นับเป็นระบบสุขภาพที่ชาวอเมริกันทุกคนต่างรู้จักดีแต่ก็ไม่คุ้นเคยเพราะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบสุขภาพแบบหลายกองทุนของสหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลและบริษัทประกันสุขภาพของภาคเอกชน

ดูเพิ่มเติม :  One important way the UK's NHS is much worse than America's private health system

แน่นอนว่าเรื่องราวของผมไม่สามารถเป็นตัวแทนของทั้งระบบได้ เพราะการส่งมอบบริการสาธารณสุขในประเทศอังกฤษนั้นจะมีความแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่คุณอยู่อาศัยรวมถึงแพทย์และโรงพยาบาลที่คุณเลือกใช้ซึ่งก็คล้ายคลึงกันกับในสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับผมซึ่งเคยใช้บริการสาธารณสุขของทั้งสองประเทศมาไม่ต่ำกว่าประเทศละ 20 ปี ผมคิดว่าผมสามารถแยกแยะความแตกต่างหลักๆ ได้อย่างชัดเจน

"รถโรลส์-รอยซ์คันนี้ยังวิ่งได้เร็วไม่พอ !"

ประเด็นที่กำลังจะกล่าวถึงก็คือ สถิติล่าสุดที่ NHS เพิ่งประกาศออกมาเกี่ยวกับระยะเวลารอคอยการตรวจจากแพทย์ที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งตัวเลขที่เป็นหัวข้อหลักก็คือ ร้อยละ 84 ของคนไข้ทั้งหมดจะได้พบแพทย์ภายในเวลาไม่เกิน  4 ชั่วโมง สำหรับประเทศอังกฤษแล้วสถิตินี้ถือว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ เพราะโดยมาตรฐานแล้ว NHS ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 95 ของคนไข้ทั้งหมด ล่าสุดสื่อต่างๆ ของอังกฤษได้นำเสนอข่าวนี้ด้วยความโกรธเกรี้ยว และโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มที่จะเลื่อนนัดและจัดตารางการรักษาใหม่ให้แก่คนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินเพื่อที่จะลดระยะเวลาในการรอพบแพทย์ลง

ในสหรัฐอเมริกา มีเก้าอี้นั่งมากมายในห้องฉุกเฉินเพราะคนไข้ต้องนั่งรอต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การจะให้เจ้าหน้าที่มาดูแลคนไข้ให้ได้เกือบๆ 9 ใน 10 คนภายในสี่ชั่วโมงดูราวกับจะเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ โปรดจำให้ขึ้นใจว่าแพทย์ในระบบ NHS จะต้องมาให้การดูแลผู้ป่วยที่รออยู่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง : หากคุณโดนรถประจำทางชนคุณจะได้รับการดูแลทันที แต่ถ้านิ้วของคุณหักในระหว่างที่คุณเมาหัวทิ่มอยู่ในผับแล้วล่ะก็ คุณอาจจะต้องไปต่อคิวรอรักษาที่แถวหลังสุด มันไม่จริงหรอกที่แพทย์และเจ้าหน้าที่จะปล่อยคนป่วยสาหัสที่มีเลือดไหลเป็นทางให้ต้องรอคอยการรักษา (ดูเหมือนว่าสื่อของอังกฤษจะชอบนำเสนอข่าวแนวนี้โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุขึ้นอาจจะแค่รายเดียวด้วยซ้ำ) ดังนั้น ความคิดของผมในขณะนี้ การที่ชาวอังกฤษออกมาบ่นว่าและไม่พอใจสถิติการให้บริการของ NHS ที่ยังไม่ถึงร้อยละ 95 สำหรับผมแล้วมันเหมือนกับการพูดว่า "รถโรลส์-รอยซ์คันนี้ยังวิ่งได้เร็วไม่พอ !" 

ไปตามเวลาที่เขากำหนดให้-อย่าฝ่าฝืน

ในมุมมองของผู้ป่วย ความแตกต่างกันอย่างมากประการแรกเกิดขึ้นเมื่อคุณโทรไปขอนัดพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตอนนั้นผมมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง ซึ่งผมคิดว่าตัวเองกำลังจะหูหนวกและควรที่จะต้องได้รับการตรวจเช็ค

ผมถือสองสัญชาตคืออเมริกันและอังกฤษ ดังนั้นผมจึงมีสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาในระบบ NHS แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม  

ในสหรัฐอเมริกา คุณโทรหาแพทย์ของคุณและขอนัดหมายเวลาซึ่งคุณสะดวกจะไปพบ เจ้าหน้าที่อาจจะถามว่าคุณมีอาการผิดปกติอะไรบ้างเพื่อประเมินเบื้องต้นให้แน่ใจว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องรีบให้การรักษาในทันที แต่จริงๆ แล้วโดยทั่วไป ใครมาก่อนมักจะได้รักษาก่อนและไม่ค่อยมีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้สักเท่าไหร่ โดยปกติแล้วหากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินคุณก็สามารถเลือกกำหนดเวลานัดหมายตามที่คุณสะดวกได้เลย

ในประเทศอังกฤษ หน่วยบริการจะกำหนดเวลานัดหมายให้โดยไม่สนว่าคุณจะชอบหรือไม่ ผมโทรศัพท์ไปและทิ้งข้อความไว้ หลังจากนั้นอีก 1-2 ชั่วโมง พยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไปจะโทรกลับมาเพื่อถามปัญหาสุขภาพของผม 2-3 ข้อทางโทรศัพท์ (คุณควรรับโทรศัพท์ในสถานที่ที่มีความเป็นส่วนตัวหากคุณไม่ต้องการให้เพื่อนร่วมงานได้ยิน) จากนั้นพยาบาลก็จะบอกเวลานัดหมาย เช่น ให้มาพบแพทย์ในวันพฤหัสบดีนี้ ตอน 9.00 น. และจะไม่มีช่วงเวลาอื่นให้เลือก สันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะหากคุณป่วย ไม่ว่ายังไงคนไข้ก็ต้องมาพบแพทย์ตามเวลาที่เขาแจ้งไป

ตอนที่เจอสถานการณ์แบบนี้เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะในสหรัฐอเมริกาผมสามารถเลือกได้ว่าจะไปหาหมอตอนไหน แต่ในอังกฤษ ผมกลับต้องไปตามเวลาที่เขากำหนดให้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกำหนดนัดหมายที่ได้รับไม่ได้ล่าช้าเลย ออกจะรวดเร็วเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานของหน่วยบริการสาธารณสุขระดับท้องถิ่นในกรุงลอนดอน ในที่สุดผมก็มองเห็นเหตุและผลในเรื่องนี้ เพราะมันคือระบบสาธารณสุขซึ่งจำเป็นต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุนและการให้บริการ  หากคุณเจ็บป่วยจริง ไม่ว่ายังไงคุณก็ต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าคุณต้องการไปพบแพทย์ในเวลาที่คุณสะดวก คำถามคือแล้วคุณป่วยยังไง จริงรึเปล่า?

เจ้าหน้าที่ของ NHS ถือป้ายเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น โดยรวมตัวกันด้านนอกโรงพยาบาลเซนต์โทมัส ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา

ในวันที่ไปตรวจรักษา...ระบบของอเมริกาแย่ที่สุด

ในอเมริกา ผมต้องรอนานมากกว่าจะได้พบแพทย์แต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่คลินิกปฐมภูมิหรืออฟฟิศของแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป ผมนั่งอ่านนิตยสารนิวส์วีคฉบับย้อนหลังจบไปหลายเล่ม แถมยังต้องนั่งเล่นโทรศัพท์รออีกนานนับชั่วโมงในขณะที่คุณหมอตรวจคนไข้รายอื่นอยู่เนื่องจากจองคิวไว้เหมือนกัน

ในอังกฤษ ผมไปพบแพทย์ตอน 9.00 น.ที่ศูนย์การแพทย์วอเตอร์ลู และได้เข้าพบแพทย์ทันที นับเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากสำหรับชาวอเมริกัน ผมเองเพิ่งจะหย่อนก้นลงบนเก้าอี้ในห้องรับรองและจังหวะนั้นชื่อของผมก็ถูกเรียก และกลายเป็นว่าแพทย์รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนค่อนข้างซีเรียสกับตารางนัดหมายคนไข้มากๆ

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเชื่อว่าการจัดตารางนัดหมายคนไข้ในระบบ NHS นั้นเหนือกว่าจริงๆ แม้ว่าจะไม่สามารถเลือกวันหรือเวลาที่ต้องการได้ แต่ถ้านัดได้แล้วและไปตามนัด คุณจะได้รับการบริการที่รวดเร็วมากจริงๆ

นายเดวิด  คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษไปเยี่ยมคนไข้ที่โรงพยาบาลเพื่อแสดงถึงพันธะสัญญาที่เขามีต่อระบบ NHS

NHS พยายามกีดกันคนไข้บางกลุ่ม และมีเหตุผลให้ต้องทำเช่นนั้น

ความพยายามจะกีดกันคนไข้บางกลุ่ม เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของ NHS และบุคลากรในโรงพยาบาลได้ช่วยกันปิดป้ายประกาศทั่วทั้งโรงพยาบาล เพื่อเตือนไม่ให้คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดเข้ามาพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉิน การทำเช่นนี้ก็เพื่อกีดกันคนที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยไม่ให้ไปใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินและพยายามชี้แจงให้เขาเหล่านั้นไปพบแพทย์ตามขั้นตอนนัดหมายปกติแทน การรณรงค์เช่นนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาช่วงเวลาทำการของโรงพยาบาลและงบประมาณจำนวนมากต้องสูญเสียไปในการดูแลรักษาผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน อีกทั้งยังทำให้โรงพยาบาลและห้องผ่าตัดกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคอีกด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เวลาที่เห็นสถาบันทางการแพทย์ติดป้ายประกาศซึ่งมีข้อความประมาณว่า "กลับบ้านไปซะ เจ้าคนโง่ !" ในห้องรับรองทุกๆ ห้อง ผู้มาใช้บริการก็เกิดอาการ Culture Shock ไปบ้างเหมือนกัน

สำหรับระบบบริการในสหรัฐอเมริกา พวกเขาไม่เคยทำให้คนไข้ต้องลำบากใจด้วยข้อห้ามในเรื่องใดเลย ผมไม่เคยเห็นโครงการรณรงค์ที่กระตุ้นเตือนคนไข้ให้มีจิตสำนึกใดๆ ก่อนที่จะพาตัวเองไปที่ห้องฉุกเฉิน มิหนำซ้ำอุตสาหกรรมยาทั้งระบบในสหรัฐอเมริกาก็ยังคงเดินหน้าโฆษณาส่งเสริมให้ผู้คนไปพบแพทย์ทันที แม้ว่าจะมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็ตาม

ส่วนการตรวจรักษาระดับปฐมภูมิโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป สำหรับผมแล้วทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ให้บริการได้เหมือนๆ กัน แพทย์ที่ผมเจอกว่าร้อยละ 95 ให้การดูแลผมเป็นอย่างดี เพราะหมอก็คือหมอ ส่วนใหญ่มักจะมีอัธยาศัยดีและทำงานเก่ง ผมคิดว่าระบบสาธารณสุขซึ่งจ่ายค่าตอบแทนให้แพทย์ไม่ได้มีส่วนทำให้พวกเขาทำหน้าที่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง 

ตอนที่ 2 เสียใจด้วยอเมริกา...โดยรวมแล้ว NHS ของอังกฤษดีกว่าจริงๆ