ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ฉุกเฉินค้านนโยบายจำกัดความเร็วรถพยาบาลฉุกเฉิน 80 กม./ชม. ชี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แนะจัดระดับผู้ป่วยแล้วใช้ความเร็วตามระดับความเร่งด่วนของอาการ และเวลาของการตอบสนองต่อความเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น พร้อมสังคายนาระบบเซฟตี้รถพยาบาลฉุกเฉินใหม่ เพราะทุกวันนี้แค่เข็มขัดนิรภัยให้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่มีให้

นพ.อัจฉริยะ แพงมา (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ไทยรัฐ)

นพ.อัจฉริยะ แพงมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.ว่า ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดความเร็ว เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่การจัดลำดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยฉุกเฉินและ response time ในการไปถึงที่เกิดเหตุ

นพ.อัจฉริยะ ตัวอย่างประเทศยุโรปในแถบสแกนดิเนเวีย จะมีการจัดลำดับความเร่งด่วนไว้หลายระดับ ถ้าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับ 1 หรือระดับวิกฤติ รถฉุกเฉินต้องไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที ฉุกเฉินระดับ 2-3 อาจจะไปใช้เวลา 15 นาที หรือหากไม่ฉุกเฉินก็อาจรอได้ถึง 2 ชั่วโมง ดังนั้นต้องพิจารณาหลายปัจจัย ต้องเข้าใจสภาพความจำเป็นในการใช้ความเร็ว ดูความจำเป็นของผู้ป่วยว่าร้ายแรงขนาดไหน ไม่ใช่จำกัดความเร็วอย่างเดียว เพราะหากมองอีกมุมหนึ่ง หากจำกัดให้วิ่งช้าไม่เกิน 80 กม./ชม. response time ที่จะไปถึงตัวผู้ป่วยก็ช้าตามไปด้วย

นพ.อัจฉริยะ เพิ่มเติมด้วยว่า การกำหนด response time ในประเทศไทยนั้น ไม่ได้แยกประเภทจัดกลุ่มระดับความฉุกเฉินผู้ป่วย แต่เป็นการกำหนดเวลาแบบเหมารวม เช่น ของ สธ.กำหนดไว้ที่ 10 นาที หรือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กำหนดไว้ 8 นาที โดยมี success rate ในการนำส่งผู้ป่วยตามเวลาที่กำหนดไว้ 50-60%

“เข้าใจว่าบ้านเรายังแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเท่าไหร่ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า ถ้าหากต้องการลดอุบัติเหตุ ต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ ไม่ใช่จำกัดความเร็ว เช่น รถยนต์ที่อยู่บนเส้นทางของรถฉุกเฉินมีความพยายามให้ทางรถฉุกเฉินมากน้อยแค่ไหน หรือออกแบบระบบความปลอดภัยให้ดีขึ้นได้”นพ.อัจฉริยะ กล่าว

นพ.อัจฉริยะ ยกตัวอย่างการพัฒนาระบบความปลอดภัยของบุคลากร เช่น รถพยาบาลฉุกเฉินของไทยในปัจจุบัน ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือถ้ามีก็ไม่ใช่เข็มขัดสำหรับลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ แต่เป็นเข็มขัดสำหรับรัดสิ่งของ ต่างจากรถฉุกเฉินในต่างประเทศที่มีการจัดที่นั่งและเข็มขัดนิรภัยของบุคลากรที่ปฏิบัติงานบนรถ มีการคำนวนตำแหน่งนั่งว่าหากเกิดอุบัติเหตุแล้วเจ้าหน้าที่จะกระเด็นไปทางไหนถึงได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด ซึ่งหากรถพยาบาลฉุกเฉินของไทยจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยในส่วนหลังของรถ ก็จะช่วยลดอัตราการสูญเสียจากอุบัติเหตุได้

นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า รถพยาบาลฉุกเฉินในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.รถที่สแตนด์บายสำหรับเหตุฉุกเฉิน และ 2.รถสำหรับการ refer ผู้ป่วย ดังนั้นเสนอว่า ในส่วนของรถที่สแตนด์บายสำหรับเหตุฉุกเฉิน ไม่ควรต้องจำกัดความเร็ว แต่มุ่งหวังที่ response time เป็นหลัก และตามกฎหมายจราจรทางบกก็ยกเว้นให้ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กำหนดไว้ได้ ขณะที่รถสำหรับ refer ผู้ป่วย ก็น่าจะพอรอได้ ไม่ต้องใช้ความเร็วมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยด้วย หากมีความจำเป็นเร่งด่วนก็อาจต้องใช้ความเร็วได้

“กรณีของรถ refer ผู้ป่วย ก็มีหลายปัจจัยประกอบ ทั้งเรื่องจำนวนทีมแพทย์และอุปกรณ์ที่อยู่บนรถ ถ้ามีคนและอุปกรณ์พอ ก็พอจะรักษาสภาพผู้ป่วยได้ หรือ อาจใช้วิธีนำคนและอุปกรณ์จากโรงพยาบาลปลายทางไปดูแลตั้งแต่โรงพยาบาลต้นทางเลย มันก็ไม่จำเป็นต้องขับเร็ว ทีนี้บ้านเรายังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย รถฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐก็มีคนน้อย มีอุปกรณ์น้อย ก็เลยต้องขับเร็ว พอขับเร็วก็เกิดอุบัติเหตุ”นพ.อัจฉริยะ กล่าว

“ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการจำกัดความเร็ว 80 กม./ชม. และไม่รู้ว่าอ้างอิงมาตรฐานประเทศไหน มันไม่ practical เพราะขนาดรถยนต์ทั่วไปยังวิ่ง 100-120 กม./ชม.กันเลย” นพ.อัจฉริยะ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญในระบบการแพทย์ฉุกเฉินอีกรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ทำการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเรื่องนโยบายจำกัดความเร็วรถพยาบาลฉุกเฉิน เพราะจะสร้างความสับสนในหมู่ประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งตอนนี้มีหลายแห่ง ทั้งรถฉุกเฉินของมูลนิธิ และรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน สอบถามเข้ามาบ้างแล้วว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เป็นกฎบังคับหรือไม่ ต้องทำตามหรือไม่ หรือหากประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารถพยาบาลวิ่งเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เกรงว่าจะไม่ทันกาล แล้วขับรถไปส่งผู้ป่วยเองจะยิ่งเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุไปกันใหญ่

“ตอนนี้ถ้าไปดูในเฟสบุ๊กของ สพฉ. ก็จะเห็นได้ว่าบุคลากรรู้สึกอึดอัด เพราะคนเป็นญาติผู้ป่วยก็อยากให้ถึงมือหมอโดยเร็วที่สุด แต่ถ้ารถฉุกเฉินขับเร็ว 80 กม./ชม. ญาติก็ไม่พอใจเจ้าหน้าที่อีก ยิ่งบอกว่าถ้าพบรถพยาบาลฉุกเฉินขับเร็วให้โทรแจ้ง 1669 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะ 1669 คือเบอร์ที่สำรองไว้สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือเร่งด่วน ถ้าต้องมาถามว่ารถทิ่วิ่งเร็วเกิน 80 กม./ชม.เป็นรถอะไรของโรงพยาบาลไหน ก็จะเสียเวลาและเสียโอกาสคนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ”แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ ระบบแพทย์ฉุกเฉินจะมี 2 แบบ คือ 1. stay & play คือมีหมอติดรถไปดูแลผู้ป่วยถึงในที่เกิดเหตุ จนคนป่วยอาการคงที่จึงจะนำตัวส่งโรงพยาบาล แบบนี้รถฉุกเฉินไม่ต้องขับเร็วเพราะมีหมอไปด้วย ส่วนอีกแบบคือ scoop & run คือการไปนำตัวผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุไปส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ซึ่งสำหรับเมืองไทยคงไม่สามารถทำแบบ stay & play ได้เพราะมีบุคลากรน้อย ก็ต้องเป็นแบบ scoop & run ขณะที่หลักสากล หากเป็นผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายถึงชีวิต จะต้องไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที ถ้าถ้าหากจำกัดความเร็วไว้ที่ 80 กม./ชม. แล้ว จะไปทัน 8 นาทีได้อย่างไร

“ผมคิดว่ายังไม่ถึงเวลากำหนดความเร็วรถฉุกเฉิน และไม่ควรประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง สพฉ.ยังมีอีกหลายเรื่องให้ทำมากกว่า เช่น การสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนทั่วไปว่าถ้าโทรมา 1669 แล้ว จะได้รับการนำส่งโรงพยาบาลที่รวดเร็วและปลอดภัย เพราะทุกวันนี้คนก็ยังโทร 1669 กันไม่มาก ส่วนใหญ่จะขับรถไปกันเองมากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถพยาบาลฉุกเฉิน คงต้องวิเคราะห์หลายๆ ปัจจัย ไม่ใช่แค่เรื่องขับเร็วอย่างเดียว เช่นว่า คนอื่นขับรถโดยไม่สนใจรถฉุกเฉินที่กำลังเปิดไซเรนหรือเปล่า มีรถฝ่าไฟแดงมาชนหรือเปล่า รวมทั้งเรื่องการออกแบบรถพยาบาลในปัจจุบันที่เอารถตู้มาทำเป็นรถฉุกเฉิน มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน”แหล่งข่าว กล่าว