ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ป่วยเรียกร้อง ‘สธ.-พณ.’ แก้ไขปัญหายาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) ของบริษัทกิลิแอด สำหรับรักษาไวรัสตับอักเสบซีสูงเกินจริง เม็ดละ 3 หมื่นบาท รักษาต้องใช้เงิน 2.5 ล้านบาท แฉเล่ห์กลบริษัทผูกขาดตลาดยา ยื่นขอจดสิทธิบัตรไม่เข้าหลักเกณฑ์ ‘ความใหม่และการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น’ ส่งผลโขกค่ายาสูงตามใจชอบ ทั้งที่ต้นทุนเม็ดละไม่ถึงร้อย พร้อมเปิดผลวิจัยพบไทยให้สิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับกว่า 70% กระทบคนไทยใช้ยาแพงโดยใช้เหตุ

20 พ.ค.58 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมด้วยมูลนิธิโอโซน มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ และชมรมเภสัชชนบท ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.กระทรวงสาธารณสุข และรมว.กระทรวงพาณิชย์ เรียกร้องให้ทั้งสองกระทรวงพิจารณาหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาราคายารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่มีราคาแพงเกินจริง

นายสมชาย นามสพรรค ตัวแทนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีกล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับซีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่าในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้บรรจุยารักษาโรคนี้ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่กลับพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีจำนวนน้อยมาก สาเหตุหลักๆ มาจากการที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการคัดกรองตรวจหาเชื้อ ส่วนที่ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วและพบว่าติดเชื้อฯ หลายคนไม่ได้รับการรักษาเพราะระบบการรักษายังไม่พร้อม ทั้งตัวแพทย์ที่รักษา โรงพยาบาลที่ไม่รู้ว่าสามารถเบิกได้จากระบบบัตรทอง ไม่นับรวมคนที่ใช้สิทธิรักษาอื่นเช่นประกันสังคมที่ยังไม่ชัดเจนว่ารองรับการรักษาโรคนี้หรือไม่ นอกจากนี้ปัญหาของยาที่มีในระบบบัตรทอง คือ เพ็กอินเทอร์เฟอร์รอล(Peginterferon) ซึ่งเป็นยาแบบเก่าที่ใช้ฉีด และต้องรักษานานกว่า 6 เดือนหรือมากกว่า รวมทั้งผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการเองก็ไม่อยากรักษา และที่สำคัญโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ป่วยเป็นตับแข็งและเป็นมะเร็งตับในที่สุด

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมียาใหม่ที่รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ระยะเวลาการรักษาสั้นลงและแทบไม่มีผลข้างเคียง แต่ยามีราคาแพงมาก ตัวอย่างเช่น ยาโซฟอสบูเวียร์  (Sofosbuvir) ของบริษัทกิลิแอด หากรักษาจนครบ 3 เดือนจะต้องจ่ายเงินประมาณ 2.5 ล้านบาท หรือตกเม็ดละ 30,000 บาท

"ราคายาเม็ดเดียวเท่ากับซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้อดังได้ 1 เครื่อง กินวันละเม็ดก็เท่ากับซื้อโทรศัพท์วันละเครื่อง” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว และว่า “ในระดับสากลยาโซฟอสบูเวียร์ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนว่า สมควรที่จะได้รับสิทธิบัตรในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ยุโรป อียิปต์ โมร็อคโค ยูเครน รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย เป็นต้น เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตยา ไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้การคุ้มครองสิทธิบัตรในเรื่อง "ความใหม่" และ "ขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น" นักวิเคราะห์บางคน ประเมินว่า ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอาจมีราคาไม่ถึง 100 บาทต่อเม็ด" นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เล่ห์กลอีกอย่างที่บริษัทยากิลิแอด ได้เดินหน้าหาทางผูกขาดตลาดยาตัวนี้ คือการทำสัญญากับบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญในอินเดีย 11 บริษัท โดยมีเงื่อนไข ให้บริษัทยาอินเดียผลิตยาโซฟอสบูเวียร์ และขายในราคาที่ถูกลงได้ แต่ให้ขายเฉพาะบางประเทศที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น โดยยกเว้นไม่ขายให้กับประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 51 ประเทศ ซึ่งมีผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี รวมกันมากกว่า 50 ล้านคน และไทยเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้กล่าวว่า การที่บริษัทยาสามารถใช้ช่องทางกฏหมายสิทธิบัตรผูกขาดราคายาได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบของรัฐที่มีช่องโหว่ โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา

"เชื่อหรือไม่ว่าในประเทศไทยมีการทำข้อมูลวิจัยย้อนหลังเพื่อดูว่าที่ผ่านมา เรามีการให้สิทธิบัตรกับยาที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรไปแล้วเท่าไหร่ ผลวิจัยพบว่ามีคำขอมากกว่า 70%ที่ไม่สมควรจะได้รับสิทธิบัตร ซึ่งหมายความว่า สิทธิบัตรยาเหล่านี้ สามารถผูกขาดตลาดยานั้นๆ ได้ถึง 20 ปี หรืออาจมากกว่านั้น" นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า แม้ว่ากฏหมายสิทธิบัตร จะเปิดโอกาสให้มีการยื่นคัดค้านหากพบว่า คำขอนั้น ไม่เข้าข่ายสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือมีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น แต่กลับพบว่า ระบบการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรรวมทั้งระบบการสืบค้นข้อมูลคำขอที่ดูแลโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เอื้ออำนวยและยากต่อการสืบค้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดสิทธิบัตรที่ไร้คุณภาพ

"กรมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องเร่งแก้ปัญหาระบบตรวจสอบคำขอสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ที่มีความต่างจากสินค้าอื่นที่ต้องการการพิจารณาที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงสิทธิคุ้มครองผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาคู่กันไปด้วย แต่ทุกวันนี้แม้ว่าจะมีการผลักดันให้เกิดคู่มือการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ไม่รู้ว่าทำไมกรมทรัพย์สินฯ ถึงยังไม่สามารถยกระดับประสิทธิภาพเรื่องนี้ได้ แบบนี้สู้ไม่ต้องมีกรมฯนี้น่าดีกว่า" นายนิมิตร์ กล่าว

ทั้งนี้ วันนี้ (20 พ.ค.) ทั่วโลกได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันและประณามพฤติกรรมของบริษัทยากิลิแอด ที่ดำเนินธุรกิจขายยาดังกล่าว อย่างไร้มนุษยธรรม หลายประเทศเช่น บราซิล อาร์เจนติน ยูเครน และรัสเซีย เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ นักกฏหมาย ภาคประชาชสังคม จะยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ของบริษัทยกิลิแอดต่อสำนักงานสิทธิบัตรในประเทศของตัวเองพร้อมกัน ส่วนอินเดีย โมร็อคโค และไทย กลุ่มผู้ติดเชื้อฯและภาคประชาสังคม ได้จัดรณรค์พร้อมกันในวันนี้เพื่อเรียกร้องให้บริษัทกิลิแอดหยุดพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรมนี้ทันที