ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : รพ.เอกชนโก่งค่ารักษาผู้ป่วยแพงเกินจริง "ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์" เผยสูงสุด 1.3 ล้านบาท ชี้ประชาชนกว่า 3 หมื่นคนเข้าชื่อขอกฎหมายคุมค่ารักษาให้ รมว.สธ.-สปช.รับไม้ต่อ ด้านแพทยสภาเผยค่าหมอเอกชนไม่มากแต่ค่ายาสูงลิ่ว บางแห่งเกินจริงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ค่อนข้างถูก เผยแพทยสภาอยู่ระหว่างร่างอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ใหม่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเพิ่มจากเดิมเท่าไหร่เพราะยังไม่แล้วเสร็จ

นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ รพ.เอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงว่า ระหว่างปี 2556-2557 มีประชาชนร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเข้ามายังเครือข่ายฯ ประมาณ 10 รายโดยพบว่าต้องเสียค่ารักษาพยาบาลถึงวันละ 4 แสนบาท รายที่ต้องจ่ายมากที่สุดอยู่ที่ 1.3 ล้านบาท ขณะที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็มีประชาชนจำนวนมากเข้าไปร้องเรียนเช่นเดียวกัน ซึ่งทราบว่า สปสช.เองได้พยายามแก้ปัญหาอยู่แต่ไม่สำเร็จเพราะไม่สามารถไปบังคับ รพ.เอกชนได้ นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อีกจำนวนไม่น้อย สุดท้ายกลับไม่มีหน่วยงานไหนออกมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทางเครือข่ายฯ จึงได้ล่ารายชื่อประชาชนเพื่อนำไปยื่นต่อผู้มีหน้าที่ในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมเรื่องค่ารักษาพยาบาลและออกเป็นกฎหมายควบคุมอย่างจริงจัง เพราะ พ.ร.บ. สถานพยาบาล 2545 ระบุเพียงแค่ให้สถานพยาบาลเปิดเผยค่ารักษาเท่านั้น

"ตอนนี้เราสามารถล่ารายชื่อประชาชนมาได้กว่า 32,000 รายชื่อแล้ว นัดหมายกันว่าในวันที่ 12 พ.ค. นี้จะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาลเวลา 12.30 น. จากนั้นจะไปยื่นต่อ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ รศ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สปช.เพื่อผลักดันให้ตั้งกรรมการคุมราคาค่ารักษาพยาบาลอย่างจริงจัง" นางปรียนันท์ระบุ

สำหรับกรณีตัวอย่างเมื่อปี 2557 นางปรียนันท์ กล่าวว่า มีคนไข้เป็นผู้ชายหมดสติระหว่างการเซาน่าและถูกนำส่งไป รพ.เอกชนแห่งหนึ่งปฐมพยาบาลก่อนจะส่งไปรักษาตัวต่อที่ รพ.เอกชนแห่งที่ 2 แพทย์เอกซเรย์ไม่พบเลือดออกที่ก้านสมองแต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยากระตุ้นหัวใจจึงวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ ฮีทสโตรก แต่ทางภรรยายังไม่หมดหวังได้ประสานไปยัง รพ.เอกชนแห่งที่ 3 ซึ่งรับปากว่าสามารถรักษาได้โดยฉีดยากระตุ้นหัวใจเข็มละ 7 หมื่นบาท จากนั้นแพทย์บอกว่าคนไข้มีภาวะเลือดข้นจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือด แต่ระหว่างการฟอกเลือดคนไข้กลับมีเลือดไหลออกทางปาก, จมูกและทวารหนักเพราะร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้ไปสุดท้ายก็ทำได้เพียงประคองลมหายใจและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งภรรยาของชายคนดังกล่าวเชื่อว่า รพ.เอกชนแห่งที่ 3 ยื้อชีวิตสามีไว้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น

นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วยังพบว่า รพ. เอกชนแห่งหนึ่งกักตัวคนไข้เอาไว้ไม่ยอมให้ออกจาก รพ.หากไม่มีเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลกว่า 8 แสนบาท โดยผู้ป่วยหญิงรายนี้บ้านอยู่ต่างจังหวัดอายุ 78 ปีเกิดล้มฟุบลิ้นจุกปากในงานแต่งงานใน กทม. ญาติๆ ได้นำตัวส่ง รพ.เอกชนที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งทาง รพ.แจ้งว่าผู้ป่วยไม่มีญาติใกล้ชิดหากจะรักษาต้องจ่ายคืนละ 3 หมื่นบาท ญาติที่พาไปเห็นว่าสามารถรวมเงินกันได้จึงยินยอม ต่อมา รพ.แจ้งอีกว่าผู้ป่วยต้องทำบอลลูนหัวใจและให้เซ็นยินยอมจ่ายค่ารักษาหลายแสนบาทโดยให้เหตุผลว่าเป็นเคสฉุกเฉินหากถึงแก่ชีวิตสามารถเรียกเก็บเงินจาก สปสช. ได้ แต่ไม่บอกกับญาติผู้ป่วยให้หมดว่า สปสช. ไม่สามารถจ่ายได้ตามจำนวนที่ รพ.เรียกเก็บ จนเกิดความเข้าใจผิดและเซ็นรับเงื่อนไขดังกล่าว

ต่อมาลูกชายของคนไข้ต้องการจะย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อที่ รพ.ของรัฐเนื่องจากเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลแพงมาก แต่ รพ.บอกว่ายังไม่สามารถย้ายได้เพราะอันตราย กระทั่งพ้นขีดอันตรายแล้วก็ยังไม่ยอมให้ออกให้เหตุผลว่าต้องเอาเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน สุดท้ายลูกชายคนไข้รายนี้ก็ต้องเซ็นรับสภาพหนี้เพื่อที่จะได้พามารดาไปรักษาตัวที่ รพ.อื่นต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นปัญหามากถ้าหากมีกรรมการมาวินิจฉัยก็จะทำให้ทราบได้ว่าหัตถการต่าง ๆ ที่ทำไปนั้นเหมาะสมหรือไม่

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า รพ.เอกชนเป็นเสมือนกับการให้บริการทางเลือกโดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของ รพ.เองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ, ค่าไฟและค่าบุคลากรแตกต่างจากการทำงานของ รพ.รัฐที่มีรัฐช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าค่ารักษาที่สูงนั้นส่วนใหญ่มาจากค่ายา, เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก โดยเฉพาะค่ายานั้นพบว่าใน รพ.เอกชนบางแห่งสูงกว่าราคาท้องตลาด 100-200 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเด็นนี้มีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล ในขณะที่อัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ยังค่อนข้างถูก ดังนั้นแพทยสภาโดยราชวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่ระหว่างการร่างอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ใหม่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าไหร่เพราะยังไม่แล้วเสร็จ.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2558