ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

3 สปช. ‘ทัศนา’ รองประธานสปช.และนายกสภาการพยาบาล ‘สารี’ และ ‘นพ.กิตติศักดิ์’ แถลงจุดยืนหนุนตีความแบบกว้างเบิกจ่ายเงิน สปสช.3 กรณี เยียวยาผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย-ไม่ไล่เบี้ยเอาผิดบุคลากร-ให้ใช้เงินอุดหนุนท้องถิ่นได้ หลัง คตร.ทักท้วงการจ่ายเงินของ สปสช.ในเรื่องดังกล่าว

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายกสภาการพยาบาล พร้อมด้วย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สปช. นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สปช. ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และ นส.สุภัทรา นาคะผิว สปช. ร่วมกันแถลงจุดยืนต่อระบบหลักประกันสุขภาพ โดยระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ได้พิจารณาในประเด็นที่ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทักท้วงการใช้เงินของสปสช. 6 ประเด็น ซึ่งเห็นว่ามี 3 ประเด็นที่ควรให้มีการตความยึดตามเจตนารมรณของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 และจะนำข้อเสนอนี้ส่งต่อไปยัง สปช.ปฏิรูประบบสาธารณสุขต่อไป

น.ส.ทัศนา กล่าวว่า ประเด็นแรก เรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากร ทางการแพทย์ที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต บาดเจ็บ พิการ จากการให้บริการผู้ป่วย ซึ่งถูกมองว่าผิดกฎหมายนั้น ขอเรียกร้องให้มีการตีความแบบกว้าง เพราะเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงจากการตั้งใจทำงานตลอดเวลาและอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา ซึ่งต่อไปหากมีปัญหาก็ควรแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2557 พบว่า มีผู้ให้บริการที่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นรวม 420 ราย เป็นพยาบาล 206 ราย ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 102 ราย แพทย์ 28 ราย และอื่นๆ เช่น ทันตแพทย์ เภสัชกร คนงาน ฯลฯ 84 ราย และใช้เงินไปเพียง 3,578,050 บาทเท่านั้น

น.ส.สารี กล่าวว่า ประเด็นที่สอง กรณีเสนอให้มีการไล่เบี้ยเอาเงินคืนจากผู้กระทำผิดตามมาตรา 42 ซึ่ง สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว ซึ่งเห็นว่าไม่ควรไล่เบี้ยเพราะเชื่อว่าบุคลากรสาธารณสุขไม่มีใครอยากทำผิดพลาด ทุกคนตั้งใจทำงาน ตั้งใจให้บริการประชาชนเต็มกำลัง แต่ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้ อีกทั้งการไล่เบี้ยจะกระทบต่อขวัญกำลังใจต่อบุคลากรทางการแพทย์

“ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อตีความเรื่องนี้ คำนึงถึงหลักเหตุผลตรงนี้ให้มาก หากไปไล่เบี้ยเอาผิดก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขภาครัฐมีความเสียหาย แพทย์ พยาบาล ก็ขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน และรู้สึกเหมือนถูกจับจ้องตลอดเวลา เข้าใจว่าในการตรวจสอบ ยึดตามระเบียบมากไป จนลืมดูข้อเท็จจริงว่าการทำแบบนั้น ท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเอง” นส.สารี กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่สาม เรื่องการจ่ายเงินให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมาย ซึ่ง คตร.ระบุว่า สปสช. จ่ายเงินให้แก่ องค์กร มูลนิธิ และบุคคล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มิได้เป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบิการ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายนั้น ตนเห็นว่าการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่กระทำได้ มากกว่าจะตีความกฎหมายอย่างแคบเพียงอย่างเดียว