ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอเจตน์” ห่วง ผลสอบ คตร. ชี้ประเด็นงบเยียวยาความเสียหาย สปสช.ต้องไล่เบี้ย รพ. ตาม ม.42 หวั่นทำ ม.41 อัมพาต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายที่ต้องการลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ระบุหากเกิดผลกระทบพร้อมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหารือร่วมหาทางออก พร้อมขอรอฟังคำตอบ สปสช.ก่อน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่สรุปพบการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ว่า การตรวจสอบของ คตร.สอดคล้องกับผลตรวจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เคยเสนอข้อมูลต่อสภาฯ โดย สปสช.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นด้วยกฎหมายเฉพาะและมีระเบียบการใช้งบประมาณภายใต้การอนุมัติของบอร์ด แต่ขณะเดียวกันต้องดำเนินการตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นกฎหมายกลาง ไม่ว่าจะเป็นการประมูลจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ซึ่ง สปสช.ต้องตอบในประเด็นต่างๆ ตามที่ คตร.ได้ตั้งข้อสังเกตไป ซึ่งหากตอบได้ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่หากตอบไม่ได้ก็คงว่ากันไปตามเนื้อผ้า ซึ่งคงต้องรอฟังการชี้แจงจาก สปสช.ก่อน

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนในหนึ่งในประเด็นที่ตั้งข้อสังเกต ในเรื่องขอเงินเยียวยาความเสียหายจากบริการในระบบสาธารณสุข ที่ คตร.ขอให้ สปสช. ดำเนินการไล่เบี้ยกรณีเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ตามมาตรา 42 ในประเด็นนี้ถ้ามองในกรณีที่งบภาครัฐต้องไม่สูญหาย จะต้องมีการดำเนินการตามมาตรา 42 ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นทำไม่ได้ การจ่ายเงินตามมาตรา 41 เป็นการเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ที่มีหลักการคือต้องไม่พิสูจน์ถูกผิด ถือเป็นหลักการกฎหมายที่ดีและถูกนำมาใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ทั้งในส่วนผู้ให้และผู้รับบริการ ซึ่งหากดำเนินการตามกฎหมายตรงไปตรงมาจะต้องมีการไล่เบี้ยกับผู้กระทำผิด แต่หากทำเช่นนั้นจริงในแง่ปฏิบัติก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และที่สำคัญคือจะทำให้ มาตรา 41 ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ

ส่วนที่มีกระแสห่วงว่า หาก สปสช.มีการไล่เบี้ยตามมาตรา 42 อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการเหมือนในอดีต นพ.เจตน์ กล่าวว่า ในประเด็นนี้ก็เป็นไปได้ แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่หากเราทำให้ มาตรา 41 ที่มีประโยชน์มากกลายเป็นอัมพาต ก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย อย่างไรก็ตามหากเกิดผลกระทบขึ้นจริง กมธ.สาธารณสุข สนช. จะรับเป็นผู้ประสานเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและร่วมหารือ ระดมสมองเพื่อหาทางออกให้กับระบบ  

“ปกติในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขจะใช้งบประมาณของ สปสช. ซึ่งในแต่ละปีก็ไม่มีการเรียกคืนจากโรงพยาบาล แต่หากเป็นไปตามที่ คตร.ระบุ จะต้องมีการเรียกคืน ซึ่งอาจได้เงินคืนบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่เรื่องนี้ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับการทำให้ มาตรา 41 ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งตามมาได้ เพราะในกรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายหากไม่ได้รับการเยียวยาก็อาจมีการฟ้องร้องตามสิทธิ แต่หากมีการเยียวยาก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นประเด็นนี้จึงกระทบกับผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบสาธารณสุขโดยตรง”  ประธาน กมธ.สาธารณสุข สนช. กล่าว และว่า ขณะนี้ต้องรอดูคำตอบของ สปสช.ก่อน แม้ว่า คตร.จะทำหน้าที่โดยดูกฎหมายเป็นหลักเช่นเดียวกับ สตง. แต่เมื่อดูในภาพรวมก็ห่วงผลกระทบที่อาจเกิดกับระบบได้ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก