ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.คมชัดลึก : “นพ.พินิจ” ค้านตั้งสภาประกันสุขภาพ ทำให้เงินกระจุกกลุ่มเดียว แจง ไม่เห็นด้วยเรื่องรวมกองทุน ระบุตอนนี้ข้าราชการ ประกันสังคม ยังไม่รู้เรื่อง ส่วน สปสช.ไม่ต้องพูดถึง ได้ประโยชน์จากการจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว แนะแก้ไขการบริหารระบบดีกว่าตั้งกองทุนใหม่

นพ.พินิจ หิรัญโชติ

นสพ.คมชัดลึก : เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นพ.พินิจ หิรัญโชติ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารการยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่ในการตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ เสนอโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาดังกล่าว เพราะมีคนเพียงกลุ่มเดิมที่ทำเรื่องนี้ และถ้าศึกษาดูร่าง พ.ร.บ.นี้มีการเสนอ 4 ชื่อ โดยยังไม่ได้ข้อสรุป คือ 1. พ.ร.บ.กำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐ 2. พ.ร.บ.เพื่อสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3. พ.ร.บ.จัดระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ

และ 4. พ.ร.บ.อภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดในเนื้อหา ที่ระบุว่าให้โอนเงินที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขทั้งหมดมาบริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งงบฯ ที่โอนมาน่าจะประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท จากนั้นจะมีการกันเงิน 0.5 ของเงินที่รวมกันมาใช้เพื่อการบริหารจัดการ คิดเป็นประมาณ 1.5 - 2 พันล้านบาท

"องค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ ใช้เงินมหาศาล มีคณะกรรมการซึ่งก็เหมือนเดิมที่มี 3 องค์ประกอบ การเมือง ข้าราชการประจำ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ส่วนตัวผมเองคิดว่าคือเรื่องกองทุนไม่ต้องไปรวม เพราะถ้ารวมแล้ว สปส. กับ ข้าราชการจะอยู่ที่ไหน เรื่องเหล่านี้ทั้งสหภาพ ข้าราชการ สปส.ยังไม่รู้เรื่อง ส่วน สปสช.ไม่ต้องพูดถึงเขาได้ประโยชน์จากการจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่มีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้วก็เป็นเรื่องที่สามารถจัดตั้งได้เลือกได้เพื่อให้เกิดผลที่ต้องการและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง"

นพ.พินิจ กล่าวอีกว่า ตอนที่ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 เพื่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีการระบุว่าหาก สปสช.บริหารงานดี ก็ให้ตกลงกับกรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อออกกฎหมายให้โอนเงินค่ารักษาพยาบาลมาให้ สปสช. เป็นผู้ดูแล แต่ตลอดเวลา 13 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าข้าราชการ แปลว่า สปสช. ยังบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพที่ชัดแจ้ง เลยมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะรวมกองทุน โดยทำวิจัยล่วงหน้า มีกระบวนการออกข่าว และแก้กฎหมายเพื่อบังคับทุกคนให้เข้ามารวมกองทุน แต่ก่อนหน้านี้มีผู้ออกมาท้วงติงไปแล้วว่า เมื่อ สปสช.พบว่าระบบของตัวเองทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากก็ควรแก้ไขการบริหารระบบมากกว่าจะมาตั้งกองทุนใหม่

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก วันที่ 21 กรกฎาคม 2558