ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสุปรีดา” รอง ผจก.สสส.ยัน งบที่ได้รับเมื่อเปรียบกับงบภาครัฐด้านสุขภาพ หรือค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งประเทศ จะพบว่าน้อยมาก ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยก็ลดน้อยลง เผยผลวิจัยจากทีดีอาร์ไอพบ สสส.ใช้เงินคุ้มค่า ด้าน “ปรีดิยาธร” แจงไม่ได้เสนอยกเลิกภาษีบาป แต่ต้องการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณทุกปี

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 ส.ค.58 รายงานว่า ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าเมื่อนำงบประมาณที่ สสส.ได้รับเปรียบเทียบกับงบประมาณด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละปี เช่น งบประมาณภาครัฐด้านสุขภาพ หรือ ค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งประเทศ ก็จะพบว่าน้อยมาก

ทั้งนี้เงื่อนไขของจำนวนเงินภาษีบาปที่องค์การเพื่อการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)ได้รับต่างจาก สสส.ที่มีเงื่อนไขจำนวนขั้นต่ำ 2 พันล้านบาท ขณะที่ สสส.ไม่มีขั้นต่ำและเพิ่มขึ้นตามงบประมาณ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มีมากเกินความจำเป็น เนื่องจากประชากรเพิ่มมากขึ้น และปัจจัยอื่นที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ มีโอกาสเกิดแนวโน้มสูงขึ้น

ภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบภาษีสรรพสามิตทั่วโลกมีแนวโน้มขึ้นภาษีเป็นระยะ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก รวมถึงราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย จำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้นก็มีผล จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นก็มีผลอย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย ในรอบ 30 ปี พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2534 ที่มี 32% ของจำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป  ปี 2544 ที่มีการจัดตั้ง สสส. อัตราการสูบก็ยังลดลงเหลือ 25.47% กระทั่งปี 2556 มีอัตราเพียง 19.94% ซึ่ง นายสุปรีดา กล่าวว่า การทำงานของ สสส.ก็ไม่ได้เคลมว่า ทำให้อัตราลดลง 100% หรืออัตราที่ลดลงเกิดขึ้นมาจาก สสส.เพียงลำพัง

"เราต้องนำกระบวนการทั้งหลายที่ขับเคลื่อนทั้งหมด มาคลี่รายละเอียดให้ชัด ถึงการทำงานแต่ละฝ่ายว่า มีการเคลื่อนไหวอย่างไร ทำอะไรไปบ้าง จึงจะสามารถพิจารณาได้ว่า ใครมีบทบาทที่แท้จริง" ทพ.สุปรีดา กล่าว

ยันผลวิจัยพบ สสส.ใช้เงินคุ้มค่า

รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า นโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์และยาสูบที่เพิ่มขึ้น และผลการวิจัยความคุ้มค่าด้านการลงทุน สสส.ต่อเงิน 1 บาท ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ จะพบว่า ด้านความปลอดภัยทางถนน มีความคุ้มค่าในระดับ 130.21% รองลงมา คือ ด้านความคุ้มครองผู้บริโภค มีระดับ 95.03% เป็นสิ่งยืนยันได้

แม้ด้านการควบคุมการบริโภค ด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว ด้านผู้สูงอายุ และด้านอื่นๆ จะยังอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือ อยู่ในระดับ 18.34, 6.87, 2.95 ตามลำดับก็ตาม

ขณะที่ นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 8 ส.ค.58 รายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เข้าใจผิด ซึ่งชี้แจงเขาไปแล้ว เพียงแต่ยืนยันว่าเงินเหล่านี้ต้องควบคุม ขอให้การใช้จ่ายเงินทุกปีรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทราบด้วย แต่ดันมีคนไปแปลงเรื่องว่าจะให้ยกเลิกเอาเงินภาษีบาปมาใช้ เลยเป็นเรื่องขึ้น เพียงแต่ต้องการให้ถูกต้องตามกฎหมาย กำหนดกฎระเบียบให้มันถูกต้อง เดี๋ยวจะไปเหมือนกับสมัยก่อนในประเด็นเงินสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่มีการกำกับวิธีการใช้

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ส.ค. 58 จากข่าว รัฐบาลปัดตัดงบภาษีบาป 3 องค์กรแค่สอบ 'โปร่งใส' และ นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 8 ส.ค. 58 จากข่าว บิ๊กตู่ส่ง คตร.หวดไทยพีบีเอส 'อุ๋ย' โวยโดนแปลงสารทำวุ่น