ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขบทเฉพาะกาลที่ให้ สสส.-ไทยพีบีเอส-กองทุนกีฬาใช้ภาษีบาปได้ 4 ปีหลังมี รธน. เป็นใช้ได้ตลอดไป แต่มีเงื่อนไขต้องกำหนดเพดานงบประมาณ รวมทั้งเพิ่มกระบวนการตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น โดยต้องรายงานเงินเหลือจ่ายทุกปีต่อครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ด้าน "ยงยุทธ" ไฟเขียว คตร.ตรวจสอบใช้เงิน

วานนี้ (10 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธาน ได้มีการพิจารณาบทเฉพาะกาล มาตรา 281 ที่ยอมให้ 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถานีไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติซึ่งได้รับการจัดเก็บค่าภาษีและธรรมเนียมเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (ภาษีบาป) ให้สามารถรับภาษีบาปได้อีกไม่เกิน 4 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้

โดยล่าสุด กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขให้ทั้ง 3 องค์กรสามารถรับภาษีบาปต่อไปเช่นเดิม ไม่มีการกำหนดอายุเวลา แต่ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ 3 องค์กรนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ด้วยการเพิ่มให้มีคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติมาประเมินผลงานทั้ง 3 องค์กร อีกทั้งต้องกำหนดเงินเพดานขั้นสูงสุดที่จัดเก็บหรือจัดสรรได้ในแต่ละปี เพื่อให้เกิดความชัดเจน รวมถึงให้มีการจัดสรรงบประมาณ การใช้เงิน และเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้นโดยต้องรายงานถึงเงินเหลือจ่ายในแต่ละปี ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

ด้านนายบวรศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯเห็นชอบให้คงหลักการที่บัญญัติไว้ คือการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต้องเข้าสู่ระบบของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีในทุกกรณี แต่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อองค์กรที่มีอยู่ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้โดยจะต้องมีการแก้กฎหมายขององค์กรที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีระบบควบคุม ตรวจสอบที่รัดกุมมากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมาการใช้เงินภาษีบาปถูกมองว่าไม่ได้รับการตรวจสอบเท่าที่ควร ซึ่งทาง สสส.ก็ได้แจ้งให้ตนทราบแล้วว่าทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) จะเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งตนได้แจ้งกลับไปแล้วว่ายินดีให้ตรวจสอบ เพราะเงินส่วนนี้เมื่อได้มาก็ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีการนำไปใช้อย่างถูกต้อง และไม่ฟุ่มเฟือย ดังนั้น จึงเห็นด้วยเต็มที่ ที่จะมีระบบตรวจสอบที่เหมาะสม

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่เป็นแนวทางชัดเจนของรัฐบาลคือ การใช้จ่ายเงินของทุกส่วน ทุกกองทุนควรได้รับการตรวจสอบ ถึงผลสัมฤทธิ์ของการใช้เงิน ประสิทธิภาพในการใช้จ่าย ความโปร่งใสของการอนุมัติเบิกจ่าย และที่สำคัญที่สุดคือการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของทั้ง สสส. และไทยพีบีเอส ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติโดยปกติ และที่ผ่านมา รัฐบาลก็ยังได้มอบหมายให้ คตร.เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีของทุกหน่วยงาน และกองทุนต่างๆ ที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงมาโดยตลอด ซึ่งผลการตรวจสอบมีทั้งการปรับเปลี่ยนกิจกรรมหรือโครงการให้เกิดความเหมาะสม การยกเลิกโครงการที่ไร้รายละเอียด ไร้ประสิทธิภาพ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินภาษีไม่ว่าจะมาจากภาษีใดเป็นไปอย่างโปร่งใสเกิดประโยชน์มากที่สุด

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 สิงหาคม 2558